‘อีวาย’ ถอดรหัสอนาคตการทำงานยุค 2025 แนะองค์กรนำ Generative AI เสริมทัพ

‘อีวาย’ ถอดรหัสอนาคตการทำงานยุค 2025 แนะองค์กรนำ Generative AI เสริมทัพ

จากงานที่ใช้เวลานับชั่วโมงสู่การทำงานในเสี้ยววินาที ‘อีวาย’ เผยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ AI จะนำมาสู่วงการธุรกิจ พร้อมแนะองค์กรต้องเริ่มวางแผนการใช้งานอย่างจริงจังก่อนถึงปี 2025

ยุคที่เทคโนโลยีกำลังทยอยแทรกซึมเข้าสู่ทุกซอกมุมของชีวิตการทำงาน “เอไอ (AI)” หรือปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นมากกว่าแค่คำพูดในวงวิชาการ แต่กำลังเป็นเครื่องมือสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างที่เราเคยรู้จัก

อีวาย ประเทศไทย” ผู้นำในระดับสากลที่ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชี ด้านภาษีอากร ด้านกลยุทธ์และการทำธุรกรรม และด้านที่ปรึกษาธุรกิจ ออกมาแชร์มุมมองถึงบทบาทและความสำคัญของเอไอในวงการธุรกิจ ย้ำชัดเจนว่า “เอไอไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน” โดยเฉพาะโรดแม็ปปี 2025 ที่จะถึงนี้ “บริษัทควรเริ่มนำเอไอมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว”

‘อีวาย’ ถอดรหัสอนาคตการทำงานยุค 2025 แนะองค์กรนำ Generative AI เสริมทัพ

วางแผนกลยุทธ์เพื่อใช้เอไอ

สุโชค สุขเกษม หุ้นส่วนสายงานบริการที่ปรึกษาเทคโนโลยี อีวาย ประเทศไทย กล่าวถึงพัฒนาการของเอไอว่า แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันมานาน แต่ในอดีตยังมีอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและการจัดการข้อมูล (Data) บางองค์กรขาดข้อมูลที่มีคุณภาพหรือยังไม่สามารถคัดกรองข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลยเกิดความยากในเรื่องของการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้พัฒนาความสามารถของเอไอ

ปัจจุบัน เจเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI) ที่มีพรีเทรน (Pre-trained) ทักษะการทำงานที่หลากหลายจากผู้พัฒนาโซลูชั่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่ใช้เอไอเป็นเครื่องมือหลักในการค้นคว้าและเรียนรู้ เห็นได้ชัดจากการที่นักศึกษารุ่นใหม่เรียนรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความคาดหวังในสภาพแวดล้อมการทำงาน หากบริษัทไม่มีเครื่องมือเอไอให้ใช้ อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และสร้างความรู้สึกไม่สะดวกสบายให้กับพนักงานรุ่นใหม่

“สมัยก่อนเราถามอะไรเด็ก เขาต้องใช้เวลาในการไปค้นหาจาก Search Engine และประมวลผลคำตอบที่ได้ด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันเด็กถามจากเอไอหมดเลย เพราะฉะนั้นถามว่าควรเริ่มปรับเปลี่ยนให้องค์กรใช้เอไอหรือลงทุนเอไอหรือยัง คําตอบคือควรเริ่มทันที

นักศึกษาที่จบใหม่เขาก็เคยใช้เอไอกันมา ถ้าบริษัทที่จะไปทำงานไม่มีเอไอให้ใช้ มันก็คงจะลดประสิทธิภาพการทำงานของเขาลง เขาอาจจะรู้สึกไม่สะดวกสบาย เพราะอาจจะต้องใช้พลังงานในการทํางานที่มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทํางานลดน้อยลง

เพราะไปเสียเวลาในการค้นหาข้อมูลมากขึ้น ซึ่งเขารู้อยู่แล้วว่ามันมีเทคโนโลยีที่ช่วยทํางานได้ แต่ทําไมบริษัทถึงไม่ใช้ ดังนั้น เอไอก็เป็นอีกเทคโนโลยีนึงที่จะทําให้บริษัทมีความเซ็กซี่ในการดึงคนเข้ามาทํางานกับเรา”

ประยุกต์ใช้ให้เป็น แล้วจะคุ้มทุน

งานประเภทใดบ้างที่เหมาะสมกับเจเนอเรทีฟเอไอ? สุโชคอธิบายว่า แทบทุกแผนกในองค์กรสามารถประยุกต์ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ทักษะของเอไอและจับคู่กับงานที่เหมาะสม อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปเนื้อหา การค้นหาข้อมูล การแปลภาษา การสร้างเนื้อหาและการคิดเชิงตรรกะ เขายังเน้นย้ำว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ฉลาดกว่ามนุษย์ แต่เพียงแค่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามตรรกะที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด

“งานแทบทุกแผนกของบริษัทมีความเหมาะสมที่จะนำเอไอมาใช้งาน เพียงแต่คุณต้องวิเคราะห์ให้เจอว่างานไหนที่ตรงกับทักษะของเจเนทีฟเอไอที่เค้ามี Pre-trained มาแล้ว อีวายได้มีโอกาสเข้าไปช่วยพัฒนาเอไอให้กับลูกค้าในหลายกรณี

เช่น การนำเอไอมาช่วยค้นหาข้อมูลและตอบคำถามของพนักงานเกี่ยวกับนโยบายด้านสวัสดิการ การนำเอไอมาช่วยตอบข้อร้องเรียนจากลูกค้าของฝ่ายบริการลูกค้า การนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์งบการเงินและจัดทำบทวิเคราะห์ผลประกอบการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน การนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์การลงทุน การนำเอไอมาตรวจสอบความผิดปกติของรายการทางธุรกิจ และการนำเอไอมาช่วยค้นหาข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กร

บริษัทมองว่า การนำเอไอมาใช้ในองค์กรไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือกระแสแต่เป็นความจำเป็นในการนำมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน และประเด็นสำคัญคือ เอไอไม่ได้มาแทนที่คน แต่คนที่มีทักษะในการใช้เอไอจะได้เปรียบเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเหนือคนที่ไม่ได้ใช้เอไอ”

ฉายภาพอนาคตเอไอปี 2025

อีวายมองภาพอนาคตในปี 2025 ว่า เอไอจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูล การค้นหาข้อมูลและการสร้างเนื้อหา นอกจากนี้ ยังเน้นถึงความสำคัญของคุณภาพข้อมูลที่ใช้ฝึกเอไอ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของเทคโนโลยี

ความท้าทายสำคัญในการนำเอไอมาใช้ คือการสร้างความเชื่อมั่น และการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ อีวายแนะนำให้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการการเข้าถึงข้อมูลอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เอไอสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ตัวอย่างเช่น อีวายได้ร่วมมือกับลูกค้าสร้างแบบจำลองการทำนายแนวโน้มทางการเงินเพื่อวิเคราะห์การลงทุนโดยในระหว่างการพัฒนาได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์การจัดชั้นความลับข้อมูลที่เหมาะสม การเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานแต่ระดับ และการใช้งานข้อมูลที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ (AI Governance Framework) ซึ่งทำให้เอไอสามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น จึงช่วยให้กิจการสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

“จากเดิมที่นักวิเคราะห์งบการเงินต้องใช้เวลานับชั่วโมงในการตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ตัวเลข และประมวลข้อมูลทางการเงิน ปัจจุบัน เทคโนโลยีเอไอสามารถทำงานเหล่านี้ได้ภายในเสี้ยววินาทีแบบไร้ความกังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูล”

อีกเรื่องที่หลายองค์กรควรพิจารณาอย่างเร่งด่วนคือ การใช้เอไอสาธารณะกับเอไอส่วนตัว โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเอไอสาธารณะอย่างแชตบอตที่เราใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อเราป้อนข้อมูลหรือถามคำถามอะไรเข้าไป

ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบ ซึ่งอาจถูกเก็บอยู่ในรูปแบบข้อมูลสาธารณะ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่คุยเรื่องนี้ภายในองค์กร ข้อมูลที่เป็นความลับหรือเปิดเผยไม่ได้อาจจะรั่วไหล ดังนั้น การลงทุนในเอไอจึงต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน และควรเริ่มต้นอย่างปลอดภัย (Safe Start)”

ล่าสุด รายงานการสำรวจของ EY Tax and Finance Operations Survey ได้ยืนยันถึงพลังของเจเนอเรทีฟเอไอในการพลิกโฉมวงการภาษีและการเงิน โดยพบว่า 87% ของผู้บริหารด้านการเงินและภาษี เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญในวงการธุรกิจ เช่น การขาดแคลนบุคลากรทางการเงิน การลดลงของงบประมาณ และความจำเป็นในการปรับตัวตามกฎระเบียบใหม่ๆ เจเนอเรทีฟเอไอจึงกลายเป็นทางออกที่สำคัญ ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้น