'เอ็นที' ได้ฤกษ์จุดพลุเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำในไทย

เอ็นที-วันเว็บ เปิดตัว “SNP Gateway” ที่อุบลราชธานีแล้ว หวังดันไทยสู่ผู้นำสื่อสารดาวเทียมอาเซียน รับความต้องการในภูมิภาค ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา นายธนวัฒน์ อัมพุนันทน์ กรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ร่วมกับ Mr. Yannis Karoumpas, Program Manager - APAC Ground Infrastructure จาก Eutelsat OneWeb หรือ วันเว็บ ผู้ให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จากประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยนายสรพงษ์ ศิริพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโทรคมนาคมและดาวเทียม เอ็นที ร่วมกัน เปิดตัว Satellite Network Portal Gateway (SNP Gateway) อย่างเป็นทางการ
โดยจะเป็นสถานีดาวเทียมที่รองรับการเชื่อมโยงกับเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit – LEO) ของ Eutelsat OneWeb ภายใต้ชื่องาน "LEO Gateway Launch 2025: Grand Opening of OneWeb SNP Gateway, Sirindhorn" ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางสถานีเชื่อมโยงโครงข่ายดาวเทียม OneWeb ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ซึ่งพัฒนาเพื่อรองรับโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ของ Eutelsat OneWeb ซึ่งช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น พร้อมเชื่อมต่อการสื่อสารที่รวดเร็ว เสถียร และมีความหน่วงต่ำ รองรับการใช้งานสำหรับ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ
เขา เสริมว่า การเปิดสถานีดาวเทียมนี้ จะก้าวสำคัญของเอ็นที สู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอวกาศ ที่จะเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมแห่งอนาคต ภายใต้บริการ Ground Segment as a Service (GSaaS) ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมภาคพื้นดินแบบครบวงจร
"SNP Gateway ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร จะเป็นหัวใจสำคัญของโครงข่ายดาวเทียม OneWeb ในภูมิภาค พร้อมเสริมศักยภาพการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคใหม่ของการเชื่อมต่อดิจิทัลที่ไร้พรมแดน"
การเลือกสถานีดาวเทียมสิรินธรเป็นที่ตั้งของ SNP Gateway แห่งนี้ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยศูนย์กลางแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, เขตบริหารพิเศษไต้หวันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และบางส่วนของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังพร้อมรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการสื่อสารผ่านดาวเทียมซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลาง GSaaS ของอาเซียน