‘เบรนนิฟิต’ สตาร์ทจากแล็บ เกมฝึกสมองรับตลาดสูงวัย
สวทช. หนุนงานวิจัยสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ “เบรนนิฟิต” ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีฝึกสมองในกลุ่มผู้สูงอายุอัลไซเมอร์ พัฒนานวัตกรรม “ระบบออกกำลังกายสมองเบรนนิฟิต” ในรูปแบบเกมที่ควบคุมการเล่นผ่านการคิดด้วยคลื่นสมอง ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม
เบรนนิฟิต (Brainifit) ดีพเทคสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฝึกสมอง ต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมการแพทย์ เกิดเป็น “ระบบออกกำลังกายสมองเบรนนิฟิต” ในรูปแบบเกมที่ควบคุมการเล่นผ่านการคิดด้วยคลื่นสมองโดยไม่ต้องใช้เมาส์ ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าสมอง ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะต่อการเสริมสร้างระดับความรู้คิด สร้างความทรงจำ ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม
ระบบฯ สามารถใช้ได้กับเด็กสมาธิสั้น ผู้สูงอายุทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เป็นโรคสมองเสื่อม กลุ่มที่มีอาการหลงลืม ตลอดจนกลุ่มที่มีค่าสมองปกติ เพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขน ข้อศอกและข้อมือ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง ระบบฝึกฝนระดับสมาธิจดจ่อ (Attention Training) สำหรับเด็กที่มีอาการโรคสมาธิสั้น (ADHD) และผลิตภัณฑ์ตรวจวัดอารมณ์ความพึงพอใจในการสำรวจความพอใจในผลิตภัณฑ์ (Neuro Marketing)
ทีมวิจัยเบรนนิฟิต
- ทางออกใหม่ของภาวะหลงลืม
สุวิชา จิรายุเจริญ ผู้บริหารบริษัท เบรนนิฟิต จำกัด กล่าวว่า ผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อม อยู่ในสภาวะที่มีปัญหาด้านความจำบกพร่อง เช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆ ไม่ได้ ความสามารถในการตัดสินใจ การสื่อสารแย่ลง สมาธิสั้น แนวทางป้องกันโรคสมองเสื่อมนอกจากจะต้องระวังอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนศีรษะ ทานอาหาร-ยาให้ครบตามแพทย์สั่ง งดสูบบุหรี่ งดดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ ต้องฝึกสมองและพยายามทำกิจกรรมที่ได้ใช้สมองอย่างสม่ำเสมอ
ระบบออกกำลังกายสมองเบรนนิฟิตเป็นระบบฝึกสมองแบบ Home Use ที่ตอบโจทย์ เพราะมีวิธีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก โดยการเล่นเกมที่ควบคุมด้วยสมาธิหรือความคิดที่จดจ่อกับตัวการ์ตูนในเกม ทำให้ผู้เล่นทราบถึงสภาวะของตนเอง ณ ขณะนั้น ผ่านลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวการ์ตูน กล่าวคือ ถ้าผู้เล่นมีสมาธิตัวการ์ตูนจะวิ่งเร็ว แต่ถ้าผู้เล่นไม่มีสมาธิตัวการ์ตูนจะวิ่งช้า
ดังนั้น ผู้เล่นจึงต้องพยายามรักษาระดับให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูนตลอดการเล่นเกม และยังสามารถแข่งขันกับเพื่อนทางออนไลน์ได้ ทำให้ผู้เล่นมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับการฝึกเป็นประจำและต่อเนื่องในระยะเวลา 2 เดือน เพื่อรับการฝึกสมองที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน ทีมงานได้ออกแบบระบบให้ใช้งานง่ายและสามารถติดตั้งใช้กับสมาร์ทดีไวซ์ตลอดจนคอมพิวเตอร์ พร้อมคำแนะนำการใช้งาน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้สะดวก
- งานวิจัยบนหิ้งสู่สตาร์ทอัพ
เบรนนิฟิตร่วมมือกับทีมแพทย์และทีมวิศวกร จากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ในการพัฒนาและออกแบบระบบ BCI-based Cognitive Training ทดลองระบบกับผู้สูงอายุ 100 คน
ผลที่ได้รับคือ ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจจากการใช้งาน สนุกสนานกับเกม และมีค่าสมองที่พัฒนาดีขึ้น ระบบออกกำลังกายสมองได้จดอนุสิทธิบัตรและอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกองควบคุมเครื่องมือแพทย์
ทั้งนี้ ได้เปิดให้บริการทดสอบนำร่องที่ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ที่บ้านบางแค กรุงเทพฯ จ.ภูเก็ต อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จ.บุรีรัมย์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยบ้านลลิสา จ.เชียงใหม่ เพื่อให้บริการฟื้นฟูระดับความรู้คิดแก่ผู้สูงอายุในระดับชุมชนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชน เช่น การได้รับทุนสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ted fund) นำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์และพัฒนากิจการในรูปแบบ Home Use
ตลอดจนได้รับรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในงาน International Exhibition of Invention of Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และงาน Seoul Innovation International Fair ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
สุวิชา อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการได้รับความสนับสนุนจาก สวทช. ทำให้ทีมวิจัยเล็กๆ สามารถพัฒนาไปสู่กิจการที่เติบโตขึ้น จนกลายเป็นธุรกิจ เนื่องจาก สวทช. มีทีมนักวิจัยและภาคเอกชนที่คอยแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ผลักดันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ การหาแหล่งทุน ทำให้เกิดประโยชน์ด้านลดการพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการฝึกสมองผู้ป่วยจากต่างประเทศ สอดคล้องกับการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
- สวทช.สร้างกลไกเร่งเชิงพาณิชย์
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่งของ หรือที่เรียกว่า “นาสท์ด้า สตาร์ทอัพ” (NSTDA Startup) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อผลักดันผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยังช่วยตอกย้ำศักยภาพงานวิจัยสู่การตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศ
ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่ได้รับการอนุมัติ 9 ผลงาน ซึ่งกลไกของ NSTDA Startup นี้จะช่วยตอบโจทย์การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI) ให้เร็วยิ่งขึ้นโดยหลักคือจะมีกลุ่มนักวิจัยเข้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและสวทช. ในการปั้นโมเดลธุรกิจจากผลงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม แล้วก้าวไปสู่การร่วมจัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ