‘ฟ้าทะลายโจรนาโน-ผักโขมอบชีส’ สองงานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

‘ฟ้าทะลายโจรนาโน-ผักโขมอบชีส’ สองงานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

“ฟ้าทะลายโจรนาโน-ผักโขมอบชีส” ผลิตภัณฑ์จากสองสตาร์ทอัพไทย “ยอคุณโอสถ- REO’S deli” ต่อยอดงานวิจัยจาก “หิ้งสู่ห้าง” เพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็นเชิงพาณิชย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ ประโยคที่มักจะกล่าวถึงผลงานวิจัยที่ปรากฎบนหิ้ง ได้รับการยกย่อง เชิดชู แต่ไม่สามารถนำไปต่อยอดให้ใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ จากแนวคิด “การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์” ที่อธิบายถึงการสร้างนวัตกรรม ต้องทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ มีมูลค่าที่สูงขึ้นสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็นเชิงพาณิชย์และพัฒนาชุมชน 

เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอคุณโอสถ จำกัด ผู้ประกอบกิจการวิจัย คิดค้น พัฒนา ให้คำแนะนำอาหารเสริม ยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจจากงานวิจัย คือ สิ่งที่ต้องการเสนอขายต้องสามารถทำกำไรได้และปรับตัวได้

นวัตกรรมหรืองานวิจัยรูปแบบใหม่นอกจากจะสร้างความแตกต่างแล้ว ยังควรตอบโจทย์สังคมและการใช้ชีวิต มองหาโซลูชันใหม่ ๆ สร้างพันธมิตรและคู่ค้า มองข้อเสียเปรียบให้เป็นโอกาส ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การทำธุรกิจได้ 

ยอคุณโอสถเริ่มแนวคิดมาจาก การต้องการต่อยอดองค์ความรู้ฐานงานวิจัย สู่การพัฒนาเป็นโซลูชันเพื่อช่วยกลุ่มผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน กลุ่มออฟฟิศซินโดรม อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ขมิ้นซอฟเจล

 

‘ฟ้าทะลายโจรนาโน-ผักโขมอบชีส’ สองงานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

ตลอดจนการมองเห็นถึงปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยการสร้างยาฟ้าทะลายโจรด้วยเทคโนโลยีนาโน ดูดซึมได้ดี บรรเทาอาการเจ็บคอ ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส สร้างภูมิคุ้มกันด้วย Zinc ป้องกันไวรัสเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งปัจจุบันได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และจำหน่ายยาในวงการเภสัชกรรม

“ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารฟังก์ชันสำหรับกลุ่มผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน มีสารสำคัญในการลดการอักเสบของเซลล์ ที่ลดปริมาณโปรตีนไซโตไคน์ IL-1 ที่เข้าทำลาย beta-cells ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ต้นเหตุของโรคแตกต่างจากแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

เกรียงศักดิ์ อธิบายเสริมอีกว่า การสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยต้องสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง หาข้อได้เปรียบที่ทำให้แตกต่างจากโซลูชันเก่า ๆ สร้างทางเลือกใหม่ ที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

นอกจากนี้ก็ต้องมองหาทรัพยากรที่เกื้อกูลธุรกิจนวัตกรรมโดยการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิต สร้างพันธมิตร-สร้างความยั่งยืน

 

การสร้างพันธมิตรเพื่อความยั่งยืนของยอคุณโอสถ เริ่มต้นมาจาก

  1. สานต่อการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์
  2. จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและแต่งตั้งตัวแทนรายย่อย
  3. สร้างความร่วมมือกับภาคต่าง ๆ โดยการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกับคลินิกหรือร้านยาชุมชน
  4. สร้างพันธมิตรการตลาด ร่วมมือกับบริษัท ฟอร์จูน เวนเจอร์ และ บริษัท สยามไพร พลัส

ทางด้านของ ชณา วสุวัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท แวลู ซอร์สซิ่ง ผู้คิดค้นนวัตกรรมอาหารพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ “REO’S deli” ประกอบด้วย ผักโขมอบชีส ลาซานญ่า มันฝรั่งบดอบชีส และมะกะโรนีอบชีส เริ่มประกอบกิจกรรมจากสตาร์ทอัพขายผักโขมอบชีสที่บ้านวันละ 300 กล่อง สู่การร่วมพัฒนาแบรนด์กับนักวิจัยเพื่อผลักดันกำไร โดยสามารถทำยอดขายได้ปีละ 7 ล้านกล่อง

‘ฟ้าทะลายโจรนาโน-ผักโขมอบชีส’ สองงานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

แนวคิดของการเลือก “ผักโขมอบชีส” มาทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ คือ ต้องการนวัตกรรมที่ทำให้แบรนด์นั้นก้าวกระโดด มองหาจุดเสียเปรียบและปัญหาของผลิตภัณฑ์ 

ชณาเล่าว่า เดิมทีนั้นผักโขมอบชีสอยู่ในกล่องฟอยล์และเปลี่ยนมาใส่ถาดพลาสติกให้กับเซเว่น เพื่อสามารถเข้าไมโครเวฟอุ่นโดยที่ไม่ต้องอบ ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่า ผักโขมอบชีสเมื่ออุ่นในไมโครเวฟแล้ว อุณหภูมิใจกลางอาหารจะต่ำกว่าบริเวณมุมทั้ง 4 ด้าน (ไม่ร้อน) จึงได้ร่วมมือกับ หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จนทำให้ผักโขมอบชีสตรงกลางนั้นมีความร้อนและอร่อย 

นอกจากนี้ก็พัฒนาโซลูชันยืดอายุสินค้าผักโขมอบชีสด้วยนวัตกรรมยืดอายุอาหารทางไฟฟ้า โดยไม่ใช้ความร้อน (Pasteurization + HPP) อยู่ได้ถึง 45 วัน โดยเก็บรักษาที่ 2-6 องศาเซลเซียส สามารถทำให้ส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ในรูปแบบของอาหารแช่แข็ง      

“การทำงานร่วมงานกับนักวิจัยต้องกำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ชัดเจน มีวิธีการที่ดี ตั้งเป้าหมายสำเร็จธุรกิจร่วมกัน พิจารณาถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งทางการตลาด ทั้งทางการวิจัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสามารถนำไปต่อยอดและใช้ในเชิงพาณิชย์ได้” 

เมื่องานวิจัยสำเร็จแล้วสามารถนำไปต่อยอดในแต่ละด้าน ดังนี้

  1. ยื่นจดอนุสิทธิบัตร
  2. ทำสัญญาขอใช้ประโยชน์จากงานวิจัย
  3. ต่อยอดเป็น Heat Wave Tech นำไปใช้กับอาหารแช่แข็ง
  4. นำเสนอ SCGP (ประกอบธุรกิจในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์) ไปใช้ประโยชน์ต่อ
  5. จ้างผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D Manager) แบ่งเปอร์เซ็นต์จากผลประโยชน์ 
  6. วางเป้าหมายเข้าตลาดกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร (Food Service) ในปี 2024
  7. หาพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อต่อยอด

ชณากล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกคนสามารถสร้างสตาร์ทอัพของตนเองจากฐานงานวิจัยได้ เพื่อทำให้ต่อยอดงานวิจัยให้กลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ผลักดันการวิจัยควบคู่การสร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป