Green Aero Tech จุดเปลี่ยนธุรกิจการบิน | ต้องหทัย กุวานนท์

Green Aero Tech จุดเปลี่ยนธุรกิจการบิน | ต้องหทัย กุวานนท์

ปี  2565 กำลังเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการบิน เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 30 สายการบินทั่วโลกประกาศจะใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuels: SAF)

น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน เป็นน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในสัดส่วนอย่างน้อย 10% ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด

    ในเดือนเดียวกันประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธุรกิจการบินก็ถูกเขียนขึ้นเมื่อสายการบินภูมิภาคของสวีเดน BRA  ร่วมมือกับ Neste บริษัทผู้นำด้านพลังงานทดแทนทำการทดสอบการบินของเที่ยวบินพาณิชย์ที่ใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนแบบ 100% 

ในฝั่งธุรกิจโลจิสติคส์ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ก็ประกาศความร่วมมือกับบริษัท BP และ Neste เพื่อหาน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนที่ผลิตจากวัสดุทางชีวภาพ กว่า 800 ล้านลิตร ซึ่งเป็นดีลการซื้อน้ำมัน SAF ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์

ในเอเชียก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน มาเลเซียแอร์ไลน์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ และ สกู๊ต  ได้เริ่มทำการบินโดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนของน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปีนี้
         

อุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนคิดเป็น 2.5% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และตกเป็นเป้าโจมตีว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน ในทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นกว่า 30% ก่อนที่จะลดลงในช่วงการระบาดของ Covid-19

ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการบิน นอกเหนือจากการประกาศพันธสัญญาเรื่องการใช้น้ำมันอากาศการแบบยั่งยืนแล้ว การลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจน

ในปี 2564 ธุรกิจการบินมีการลงทุนใน Green Aero Tech ถึง 13 ดีลด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา 
  

 สายการบินที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Green Aero Tech มากที่สุดสามอันดับแรกคือ Jetblue 7 ดีล United 6 ดีล และ Japan Airlines 4 ดีล

ข้อมูลจาก PitchBook Data ระบุว่ากลุ่มของเทคโนโลยีที่ได้รับเงินลงทุนสูงสุดสามอันดับแรกคือ 1) น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) 37% 2) ระบบไฮบริดสำหรับเครื่องบิน 18% และ 3) พลังงานไฮโดรเจน 11%
     

     การลงทุนของบริษัทใหญ่ในกลุ่มธุรกิจการบินจะโฟกัสไปที่สตาร์ทอัพที่พัฒนาโซลูชั่นการผลิตน้ำมันจากวัสดุชีวภาพ เพราะนั่นคือสิ่งจะตอบโจทย์ Pain Points ใหญ่ที่สุดของธุรกิจการบินในวันนี้ การใช้ SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ถึง 80% 
    

แต่ปัญหาใหญ่ที่ยังต้องเร่งพัฒนาต่อคือ เรื่องของต้นทุนและกำลังการผลิต เพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรและของเหลือจากการแปรรูปอาหาร ซึ่งมีแหล่งซัพพลายที่ไม่แน่นอนและมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงทำให้ราคาของ SAF ยังสูงกว่าน้ำมันที่ใช้อยู่เดิมถึง 3-5 เท่า
       

 การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการบินไปสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ ถือเป็นโอกาสสำคัญของสตาร์ทอัพในกลุ่มพลังงานทางเลือก และที่สำคัญเป็นโอกาสที่น่าสนใจของประเทศไทยเพราะเรามีทั้งซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการบินและโรงกลั่นและยังมีแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF 
  

 ไม่ว่าจะเป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรหรือของเหลือจากการแปรรูปอาหาร  การสนับสนุนด้าน R&D ให้กับสตาร์ทอัพและนักวิจัยในกลุ่มนี้ อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิต SAF ในระดับโลกได้!

Green Aero Tech จุดเปลี่ยนธุรกิจการบิน | ต้องหทัย กุวานนท์
คอลัมน์  Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor 
 บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม