3 นักวิจัยหญิง คว้าทุนลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ 65”
3 นักวิจัยหญิงรับทุนจาก ลอรีอัล ในโครงการ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2565 จำนวน 250,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ แก่นักวิจัยสตรีที่มีผลงานโดดเด่น สร้างประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ลอรีอัล ในฐานะบริษัทความงามที่ให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ และการทำงานด้านสนับสนุนและเสริมสร้างพลังสตรี เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนพื้นที่ของสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์เพราะเราเชื่อว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี โดยเฉพาะในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย
ซึ่งผู้หญิงยังคงประสบความยากลำบากในการศึกษาและการประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ดังปรากฏในผลการวิจัยของ Catalyst
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยนับว่ามีพัฒนาการโดดเด่นด้วยสัดส่วนนักวิจัยหญิงสูงถึง 53% ข้อมูลนี้เน้นย้ำความสำเร็จของการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของความสามารถนักวิจัยสตรีไทยที่ไม่เป็นรองใคร
กลุ่มสตรีเหล่านี้เพียงต้องการการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้มีโอกาสได้นำเสนอผลงานและได้มีพื้นที่ยืนในสายงาน โดยเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้วที่ลอรีอัล ประเทศไทย ได้มอบทุนสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยอย่างต่อเนื่อง
และจะมุ่งมั่นจะเดินหน้ามอบการสนับสนุนแก่นักวิจัยสตรีไทยต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้วงการวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยได้มีโอกาสเปล่งประกายบนเวทีโลก
โดยทุนวิจัยดังกล่าวมีทั้งหมด 3 ทุน มอบแก่นักวิจัยสตรี 3 ท่าน จาก 3 สถาบัน ในสองสาขา สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน”
และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
2. ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับงานวิจัยหัวข้อ “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ฟื้นฟูระบบนิเวศและการกักเก็บคาร์บอน
ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานวิจัย “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน” นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล
ทีมผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเล ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นชนิดหลักที่ใช้ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย
ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคาม เพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนต่อไป
วัสดุดูดซับโลหะที่ปนเปื้อนในน้ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์
งานวิจัย “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ศึกษาวิธีดูดซับโลหะหนักที่มักพบปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แหล่งปิโตรเลียม และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม
โดยจะลงลึกเรื่องการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal-organic framework, MOF) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนจากการเชื่อมต่อกันของกลุ่มโลหะ (Metal cluster) และโมเลกุลสารอินทรีย์ (Organic cluster) ให้สามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและโครงสร้างได้หลากหลาย เพื่อควบคุมหรือเพิ่มคุณสมบัติด้านต่างๆ ให้มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้
ปัจจุบันวัสดุดูดซับเป็นสิ่งที่ใช้อยู่อย่างแพร่หลายทั้งในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม แต่วัสดุดูดซับคุณภาพสูงที่ใช้กำจัดโลหะหนักหรือสารอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มักนำเข้าจากต่างประเทศและค่าใช้จ่ายสูง
แม้มีการศึกษาวิจัยและใช้งานวัสดุ MOF อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในไทยยังไม่พบการศึกษาอย่างกว้างขวางนัก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ความเข้าใจ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างวัสดุและคุณสมบัติการดูดซับ และเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในชีวิตประจำวัน ในภาคอุตสาหกรรม และในระดับประเทศ
สารเคมีชีวภาพมูลค่าเพิ่มบำบัดมลพิษ
ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า งานวิจัย “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม” มุ่งเน้นบูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎี เพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และวัสดุขั้นสูงที่ราคาเหมาะสม ใน 2 หัวข้อหลักด้วยกัน
หนึ่งคือ เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลในโรงกลั่นชีวภาพ และสองคือ เพื่อใช้ในการบำบัดก๊าซมลพิษ ได้แก่ ก๊าซเรือนกระจก NOx และ CO2 เป็นต้น รวมทั้งการสังเคราะห์สารเคมีมีมูลค่าจากก๊าซดังกล่าว
งานวิจัยนี้จะสร้างชุดความรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกต่อคุณสมบัติวัสดุและปัจจัยบ่งชี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุตามวัตถุประสงค์การใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษในห้องปฏิบัติการ
สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ และขยายผลต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมยา เป็นต้น