GISTDA แจงแผนงาน 2023 เศรษฐกิจอวกาศลดการปล่อยคาร์บอน
GISTDA จัดงาน INNOVATION DAY 2022 แจงแผนงานปี 2023 ลดการปล่อยคาร์บอนจากเศรษฐกิจอวกาศ และผลักดันเรื่อง New Space Economy
“อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว อวกาศไม่ใช่เรื่องมนุษย์ต่างดาว อวกาศเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่าย อวกาศเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโลกใช้ทรัพยากรจากอวกาศทั้งหมด” ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กล่าวเปิดไว้ในงาน “INNOVATION DAY 2022”
จุดประสงค์ของการจัดงานเพื่อให้ความรู้ อธิบายแผนงานดำเนินงานอวกาศในปีที่ผ่านมาและในปีต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีการหารือระหว่างพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ นำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดแสดง เพื่อร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศ นำทรัพยากรอวกาศไปใช้พัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้อำนวยการ GISTDA อธิบายว่า ชีวิตประจำวันของเราได้นำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ข้อมูลผ่านนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การใช้งานการสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่, แผนที่นำทาง, การตรวจสอบสภาพอากาศ, การติดตามภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างน้ำท่วมที่ผ่านมา เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นปลายทางทั้งสิ้น นวัตกรรมที่เกิดจากการผลิต การตรวจสอบ การสร้าง เช่น การสร้างดาวเทียม การสร้างจรวด การสร้างระบบที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างภาคพื้นดินกับอวกาศอีกด้วย
ดังนั้น การสร้างการรับรู้และการเข้าถึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้งาน Innovation Day 2022 เกิดขึ้นเพื่อการรวมตัวกันของคนในแวดวงเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ต้องการสรรหานวัตกรรมไปพัฒนาและต่อยอดกับการสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศไทย
ซึ่งแผนการทำงานของ GISTDA ในปี 2023 มีดังต่อไปนี้
1. GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกปี 2023 หรือ CEOS Chair 2023 ได้มอบนโยบายผลักดันในสองประเด็นสำคัญคือ “ลดการปลดปล่อยคาร์บอน” เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC)
2. การผลักดันเรื่อง New Space Economy ซึ่ง GISTDA จะร่วมกับองค์กรอวกาศในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ESA, NASA USGS JAXA, CNES และ CSA เป็นแกนหลักในการแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากหน่วยงานสมาชิก
ในการเปิดโอกาสและส่งเสริมการพัฒนาด้าน Space Technology โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมและการประยุกต์ใช้ระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศภาครัฐ ภาคเอกชน และสตาร์ตอัป
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดและร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ร่วมกับม.บูรพาหารือเรื่อง “ระบบการจัดการจราจรทางอวกาศ หรือ ZIRCON และแนวทางการให้บริการแก่เครือข่ายผู้มีปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมห้วงอวกาศในประเทศไทย” ที่ GISTDA ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานภารกิจของดาวเทียมไทยโชต
และพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติการดาวเทียมในโครงการ THEOS-2 ที่พัฒนาโดยวิศวกรของ GISTDA เองทั้งหมด GISTDA มีเป้าหมายที่จะขยายผลการให้บริการระบบ ZIRCON กับดาวเทียมสัญชาติไทยดวงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคงทางอวกาศของประเทศไทย
“เรื่องของเศรษฐกิจอวกาศเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 และร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และหากสามารถผลักดันเศรษฐกิจอวกาศได้ชัดเจนมากขึ้น ก็จะมีการจัดการเรื่องกองทุนที่จะนำมาทำเรื่องอวกาศได้ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนทำให้เกิด Space Sustainability สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง” ผู้อำนวยการ GISTDA ชี้จุดสรุป