จับตา! 'เอ็นที' ประมูลดาวเทียม หลัง ครม.ไฟเขียว 'แผนอวกาศ'

จับตา! 'เอ็นที' ประมูลดาวเทียม หลัง ครม.ไฟเขียว 'แผนอวกาศ'

มติครม.หนุนเอ็นทีประมูลดาวเทียมสื่อสารจากกสทช.ต้นปี 66 ทั้งนี้ พร้อมมอบหมายให้ดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมในเชิงลึกต่อไป และร่วมพิจารณาเพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ว่า ร่างนโยบายดังกล่าวเป็นการยืนยันชัดเจนว่า บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที สามารถเข้าร่วมประมูลดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะจัดประมูลในวันที่ 8 ม.ค. 2566 นี้ หรือ อาจจะเป็นพันธมิตรกับเอกชนที่ชนะการประมูลดาวเทียมเพื่อให้ภาครัฐมีดาวเทียมสื่อสารของตนเอง

ปัจจุบัน กระทรวงดีอีเอส ได้รับสัมปทานดาวเทียมคืนจาก บมจ.ไทยคม คือ

-ไทยคม 4 วงโคจร 119.5E

- ไทยคม 6 วงโคจร78.5E

ดังนั้นหาก NT ต้องการประมูลอาจจะสนใจแพ็กเกจ

-ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ไทยคม 6 ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาทเศษ

-และ ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) ไทยคม 4 ไอพีสตาร์ และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาทเศษ เนื่องจากภาครัฐใช้บริการเช่าซื้ออยู่ ดังนั้นจึงต้องการให้เอ็นทีเป็นผู้บริหารจัดการและให้บริการในราคาที่เหมาะสม

ส่วนชุดที่ 1 วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาทเศษ

และ ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาทเศษ รวมถึงชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาทเศษ โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเรือนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศและ เอ็นทีไม่มีความเชี่ยวชาญในการประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า สำหรับการลงทุนสร้างดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างดาวเทียมให้เสร็จภายใน 2-3 ปี และเป็นการทยอยลงทุนเมื่อคิดการลงทุน 3 ปี จะใช้เงินลงทุนประมาณปีละ ไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

ร่ายยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ

สำหรับมติที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ว่า ได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 (National Space Master Plan 2023 - 2037) และเห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกิจการอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 - 2580 (National Space Master Plan 2023 - 2037) จะขับเคลื่อนภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 8 การสร้างกลไกการขับเคลื่อนแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ

ส่วนร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการมีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณ จำนวน 1 วงจรดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือสัญญาสัมปทานดาวเทียม เพื่อใช้ในกิจการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งาน ทำให้หน่วยงานของรัฐได้มีการเช่าซื้อช่องสัญญาณของดาวเทียมเพิ่มเติมจากดาวเทียมไทยคม 6 ไทยคม 7 และช่องสัญญาณจากต่างชาติ

โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมภาพถ่าย ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมระบบนำร่อง จึงจำเป็น ต้องมีดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือดาวเทียมที่รัฐ มีสิทธิในการควบคุม บริหารจัดการเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติขึ้น

โดยมีแนวความคิดหลัก คือ

1.จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

2.ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย

3.ให้เอ็นทีรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ 4.ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชน 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ เอ็นทีดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมในเชิงลึกต่อไป และร่วมพิจารณาเพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี