สงคราม Chatbot สั่นสะเทือนมนุษย์งาน

สงคราม Chatbot สั่นสะเทือนมนุษย์งาน

การแย่งชิงความเป็นเบอร์หนึ่งในสงคราม "Chatbot" นับเป็นข่าวที่มนุษย์งานอย่างเราๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ว่าใครจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่เหยื่อที่โดนลูกหลงเต็มๆ ก็คือ “คนทำงาน” นี่เอง

การเปิดตัว ChatGPT เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนไปทั้งวงการเพราะไม่ได้เป็นเพียง Chatbot ธรรมดาที่ทำได้เพียงการให้ข้อมูลพื้นฐาน หรือตอบคำถามทั่วไปอย่างสภาพอากาศอีกต่อไปแล้ว เพราะ ChatGPT ไปไกลถึงขนาดช่วยเขียนโปรแกรม แต่งเพลง เขียนบทความ หรือแม้แต่เขียนงานวิชาการยากๆ ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น และด้วยความสามารถของเจ้า ChatGPT นี่เอง ทำให้คนแห่เข้าไปใช้งานทะลุ 1 ล้านคน หลังจากที่เปิดตัวได้เพียง 5 วัน ซึ่งล่าสุดยอดผู้ใช้งานเพิ่งจะทะลุหลัก 100 ล้านคน ไปเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา 

การปรากฏตัวของ ChatGPT ทำให้บริษัทเสิร์ชเอนจินระดับโลกต่างนั่งไม่ติด ต้องลุกขึ้นมาทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อแข่งกันพัฒนา Chatbot จนกลายเป็นสงคราม Chatbot ขึ้นมาในปัจจุบัน โดย ณ ขณะนี้น่าจะแบ่ง Chatbot ออกได้เป็น 3 ค่ายหลัก 

...ค่ายแรก Microsoft ซึ่งก็คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ChatGPT นั่นเอง โดย Microsoft ให้เงินสนับสนุน บริษัท Open AI ซึ่งเป็นเจ้าของ ChatGPT มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2562 โดย Open AI มีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 ราย คือ แซม อัลท์แมน ปัจจุบันคือประธานบริษัทนั่นเอง และอีกคน คือ อีลอน มัสก์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Tesla แต่ มัสก์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทไปเมื่อปี 2561

ส่วนค่ายที่สอง คือ Google อย่างที่บอกไปว่า หลังการเปิดตัวของ ChatGPT สร้างการตื่นตัวให้กับวงการเสิร์ชเอนจินเป็นอย่างมากและ Google ก็คือหนึ่งในนั้น เพราะทันทีที่ ChatGPT ถูกปล่อยออกมา ซันดา พิชัย ซีอีโอของ Google เรียกประชุมทีมด่วนประกาศ Red Code ให้พัฒนา Chatbot เพื่อสู้กับ ChatGPT ล่าสุดเตรียมเปิดตัว Bard ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะให้บุคคลที่เชื่อถือได้ทดลองใช้งานเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าวต่อประชาชนในวงกว้าง โดยจุดแข็งของ Google คือ การมีส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอนจินที่สูงถึง 92.7% เข้าถึงผู้ใช้งานทั่วโลกได้มากกว่า 4,300 ล้านคน 

สุดท้าย คือ ค่าย Baidu หรือเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของจีน มีแผนเปิดตัว Chatbot ภายเดือนมี.ค.นี้ โดยใช้ชื่อว่า ERNIE Bot ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษและ Wenxin Yiyan ในเวอร์ชันภาษาจีน ความน่าสนใจอยู่ที่ นักลงทุนที่เข้าร่วมสนับสนุนด้วยมีทั้ง Intel และ Qualcomm ซึ่งจุดแข็งของ Baidu คือ ความเป็นเสิร์ชเอนจินที่มีผู้ใช้งานมากสุดในจีน สามารถเข้าถึงประชากรจีนมากกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งปกติแล้วการเสิร์ชหาข้อมูลของชาวจีนใน Google มักไม่ค่อยเจอ ดังนั้น Baidu จึงเป็นตัวเลือกสำคัญของชาวจีนในการค้นข้อมูลต่างๆ ของคนจีนนั่นเอง ดังนั้นคงต้องรอดูกันว่า Chatbot ของ Baidu เมื่อเปิดตัวออกมาจะมีอะไรที่เหนือกว่า ChatGPT บ้าง

การแย่งชิงความเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในสงคราม Chatbot นับเป็นข่าวที่มนุษย์งานอย่างเราๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ว่าใครจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่เหยื่อที่โดนลูกหลงเต็มๆ ก็คือ “คนทำงาน” อย่างเรานี่ละ หากจำกันได้เมื่อสิบกว่าปีก่อนการมาของ Automation ทำให้แรงงานทักษะต่ำจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ในครั้งนี้การมาของ ChatGPT ก็อาจทำให้แรงงานทักษะกลางถึงสูงที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองอาจตกงานได้เช่นกัน ดังนั้นมนุษย์งานอย่างเราคงไม่สามารถละเลยคำว่า “Upskill-Reskill” ได้อีกต่อไป!