ข้ามอุปสรรค Open Innovation | ต้องหทัย กุวานนท์

ข้ามอุปสรรค Open Innovation | ต้องหทัย กุวานนท์

ผู้บริหารองค์กรในยุคนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการสรรหานวัตกรรมจากภายนอก หรือที่เรียกกันว่า นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในกระบวนการวิจัยและพัฒนา

เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ทำให้การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ไม่สามารถอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากแหล่งทรัพยากรภายนอกองค์กร

เมื่อเร็วๆ นี้ Mind The Bridge ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ให้บริการเรื่อง Open Innovation ได้เผยผลสำรวจที่ทำให้เห็นถึงเทรนด์ขององค์กรธุรกิจในปี 2023 กับการสรรหานวัตกรรมจากภายนอก

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ 22% ขององค์กรเลือกที่จะใช้ Venture Builder โมเดลในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น นั่นคือการร่วมมือกับสตาร์ทอัพในการพัฒนาธุรกิจใหม่โดยช่วยนำเข้าสู่ตลาดและสร้างการเติบโต

ในขณะที่โมเดลที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Corporate Accelerator ที่เน้นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพและเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนน้อย เพื่อหวังผลในเรื่องการเติบโตของมูลค่าธุรกิจ กลับมีแนวโน้มลดลงถึง 11%

เช่นเดียวกันกับการเอาพนักงานในองค์กร มาสร้างสตาร์ทอัพ (Intrapreneurship) ก็มีเทรนด์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

วิถีการสร้างนวัตกรรมแบบเปิดไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุค 80 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple เคยร่วมลงทุนในซอฟท์แวร์ของ Adobe ซึ่งตอนนั้นยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก

ซอฟท์แวร์ของ Adobe ที่ถูกนำมาใช้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คอมพิวเตอร์ Mac ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกต่างให้ความสำคัญกับการใช้โมเดลการสร้างนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อสร้างธุรกิจใหม่

บริษัทระดับโลกอย่าง BMW BOSCH และ SIEMENS ถือเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จกับการนำเอานวัตกรรมจากภายนอกมาสร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ บริการและ โมเดลธุรกิจใหม่

จนบริษัทที่เป็นที่ปรึกษาด้าน Open Innovation อย่าง 27 Pilots ได้ถูก Deloitte ซื้อกิจการไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หลายองค์กรที่เคยใช้โมเดลนวัตกรรมแบบเปิดกับหน่วยงานในองค์กรมองว่า Open Innovation เป็นกลไกที่สำคัญ แต่เป็นสิ่งที่ที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก

และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในกลุ่ม BIG4 ยังต้องเข้าไปลงทุนซื้อกิจการบริษัทที่มีโนว์ฮาวในด้านนี้

อุปสรรคที่ทุกองค์กรต้องก้าวข้ามกับการทำ Open Innovation คือ

1) ข้อจำกัดขององค์กรในเรื่องกระบวนการทางกฎหมายที่ยังล้าหลังและใช้เวลานานเกินไป จนสตาร์ทอัพถอดใจและขาดความ “เชื่อมั่น” ที่จะทำงานด้วย

2) โลกทัศน์ของคนในองค์กรที่ยังไม่เปิดกว้างในการเข้าถึงสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

3) กระบวนการขออนุมัติการลงทุนเพื่อทำต้นแบบ หรือ ทดลองโซลูชั่นใหม่ มีความยุ่งยากและล่าช้า

4) ขาดทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กรที่กล้าการยอมรับความผิดพลาด ทำให้ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่กล้าตัดสินใจ

5) ขาดการตั้งเป้าหมายร่วมกันของทั้งฝั่งองค์กรและสตาร์ทอัพ

      กลยุทธ์การก้าวข้ามอุปสรรคและผลักดัน Open Innovation ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการที่ผู้บริหารระดับบนสุดจะต้องเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการ “เปิดใจ” และถ่ายทอดการทัศนคตินี้ไปสู่ทุกส่วนในองค์กร

เพราะท้ายที่สุดแล้วนวัตกรรมแบบเปิดคือ การเปิดประตูสู่โอกาสที่ต้องไม่ถูกครอบงำโดยทัศนคติที่เชื่อว่าการกินรวบคือคำตอบของทุกสิ่ง!

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future

ต้องหทัย กุวานนท์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์

Startup Mentor 

บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารผลลัพธ์ด้วยการโค้ช