Open Innovation 2.0 นวัตกรรมแบบเปิดยุคใหม่
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะทราบและได้ยินคำว่า Open Innovation หรือ การสร้างนวัตกรรมแบบเปิด มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เรื่องของ Open Innovation2.0
ที่จะกล่าวถึงบทความในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องของความริเริ่มจากสหภาพยุโรป หรือ EU ที่จะนำแนวทางดั้งเดิมของนวัตกรรมแบบเปิด มาปรับปรุงให้ทันสมัยเข้ากับการพัฒนาด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง
ผู้ที่นำเสนอแนวคิด Open Innovation (OI – นวัตกรรมแบบเปิด) ขึ้นเป็นครั้งแรกได้แก่ ศ.เฮนรี เชสโบรว์ (Henry Chesbrough) เมื่อปี 2006 หรือกว่า 12 ปีมาแล้ว โดย OI เป็นกระบวนวิธีแบบใหม่ในการสร้างนวัตกรรมขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหมดที่สนใจในการพัฒนานวัตกรรมนั้นๆ ขึ้นมา มีโอกาสทำงานร่วมกันและแรกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมเป้าหมาย ได้สำเร็จในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่หน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะพยายามสร้างนวัตกรรรมนั้นๆ ขึ้นมาแต่ผู้เดียว
หรือยังมีโอกาสเป็นอย่างมากที่ในระหว่างกระบวนการพัฒนานวัตกรรมนั้นๆ ทำให้ผู้พัฒนานวัตกรรมเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปจากนวัตกรรมเป้าหมาย เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้เพิ่มขึ้นอีก
ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านของการประยุกต์นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการสร้างนวัตกรรม หรือการนำความต้องการใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคหรือตลาดยังไม่เคยรู้จัก หรือคาดไม่ถึงว่าจะมีสินค้านวัตกรรมแบบนี้ขึ้นในตลาดได้จริง
พลังของนวัตกรรมแบบเปิด เป็นที่ประจักษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเป็นทฤษฏีการสังเคราะห์นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมาโดยตลอด
นวัตกรรมแบบเปิดดั้งเดิม ได้รับการขนานนามให้เป็น Open Innovation 1.0 เมื่อเกิดแนวคิดที่จะต่อยอดให้นวัตกรรมแบบเปิดมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมมากขึ้นอีก และได้รับการพูดถึงในชื่อว่า Open Innovation 2.0
ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับ Open Innovation 2.0 อาจต้องย้อนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ของกระบวนการสังเคราะห์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมี Open Innovation 1.0 ขึ้นมา
แต่เดิม การสร้างนวัตกรรมจะเป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรหรือแต่ละธุรกิจ จะนิยมเก็บไว้เป็นความลับภายในองค์กร และจะค้นคว้าหาวิธีการพัฒนานวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรภายใน ไม่ว่าจะเป็น บุคคลากร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยพัฒนา หรือนักเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานภายในขององค์กรเท่านั้น
โมเดลแบบเดิมที่เป็นที่นิยมในยุคสมัยของการสร้างสินค้านวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีต่างๆ น่าจะเริ่มขึ้นจากยุคของ โธมัส อัลวา เอดิสัน กับ บริษัท เจนเนอรัล อิเล็คตริก อันลือลั่นของเขา
ความหลากหลายของการสังเคราะห์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เริ่มมีขึ้น เมื่อเกิดงานวิจัยขึ้นในองค์กรสาธารณะ เช่น ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ และสามารถทำการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้นำมาใช้งานได้ในลักษณะของ “เทคโนโลยี” ต่างๆ หลากหลายสาขา
ทำให้องค์กรภาคธุรกิจ สามารถร่วมมือกับองค์กรสาธารณะภายนอก เช่น มหาวิทยาลัย ในการขอซื้อ หรือขอรับการถ่ายทอดความรู้ หรือ เทคโนโลยีที่ค้นพบจากงานศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้สร้างสินค้านวัตกรรมที่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยใช้เวลาในการพัฒนาหรือปรับปรุงต่อยอดที่สั้นลง
ดังนั้น แนวคิดก่อนการเกิด Open Innovation 1.0 ของ ศ.เฮนรี เชสโบรว์ จึงมีรากฐานมาจากการศึกษากลไกของการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ จากองค์กรภายนอก เข้ามาสู่องค์กรธุรกิจ โดยที่องค์กรธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านทรัพยากรในการวิจัยพัฒนาด้วยตนเองอย่างมากมายเหมือนเดิม ในลักษณะของ การทำนวัตกรรมแบบปิด (Closed Innovation)
ส่วนการพัฒนา Open Innovation 2.0 ของกลุ่มสหภาพยุโรป ได้ให้ความสำคัญเพิ่มเติมไปจากกระบวนการผสมผสานควบรวมระหว่างการสร้างองค์ความรู้จากภายในองค์กรและการรับองค์ความรู้มาจากองค์กรภายนอกเข้ามาเพื่อช่วยให้กระบวนการสังเคราะห์นวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนในการพัฒนาลดลง
โดยการนำปัจจัยสำคัญอีก 2 เข้ามามีบทบาทในกระบวนการสังเคราะห์นวัตกรรม ซึ่งได้แก่ ผู้บริโภคหรือลูกค้า (Customers) และ ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Eco-System)
ปัจจัยที่เกี่ยวกับผู้บริโภคหรือลูกค้า มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ใดๆ หากไม่มีผู้สนใจที่เข้ามาเป็นผู้ทดลองใช้และพึงพอใจกับการใช้งาน สิ่งประดิษฐ์นั้นๆ ก็ไม่สามารถกลายสภาพมาเป็น นวัตกรรม ได้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ หรือ นวัตกรรมเชิงสังคม
ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบนิเวศทางนวัตกรรม ก็จะมีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ สามารถมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ในมิติที่มากกว่าการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจกับมหาวิทยาลัย หรือ ในระหว่างธุรกิจด้วยกันเท่านั้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างภาคพาณิชยกรรมและภาคสังคมที่จะเป็นผู้รับประโยชน์จากการสังเคราะห์นวัตกรรมนั้นๆ ขึ้นมาได้ประสบความสำเร็จ
Open Innovation 2.0 มุ่งไปในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่แพร่หลายในปัจจุบันที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงที่สำคัญลงไปถึงระดับบุคคล
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของ “นักข่าวพลเมือง” ในการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ที่หลายๆ ครั้งได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม ในยุคของ Open Innovation เราอาจได้เห็นนวัตกรรมพลิกโลก ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของชาวบ้านทั่วไปที่ต้องการสิ่งใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน หรือมองเห็นโอกาสจากสิ่งที่ชาวบ้านพบเห็นทุกวัน แต่นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัย อาจยังไม่รู้จักสิ่งนั้นเลย
กลายมาเป็นยุคของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นจาก “นวัตกรพลเมือง” ที่เป็นชาวบ้านทั่วๆ ไป ก็เป็นได้!!!!