ญี่ปุ่น เปลี่ยน ‘ใต้ทางรถไฟรกร้าง’ เป็นโรงเรียนอนุบาล คืนความปลอดภัยให้เมือง
ญี่ปุ่นสร้างโรงเรียนอนุบาลใต้ทางรถไฟยกระดับ ที่ถูกปล่อยทิ้งในเมืองโตเกียว ไอเดียเปลี่ยนสถานที่รกร้างให้มีประโยชน์และปลอดภัย
โรงเรียนอนุบาลใต้ทางรถไฟยกระดับในมาจิยะ ใจกลางเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการช่วยแก้ปัญหา “พื้นที่ไม่เพียงพอ” ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง ให้กลายเป็นโรงเรียนอนุบาล สร้างบรรยากาศให้มีความปลอดภัย
ทางรถไฟดังกล่าวสร้างเมื่อพ.ศ. 2474 และถูกยกระดับขึ้น ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นหรือพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย สร้างร้านค้า เกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ภายใต้ทางรถไฟ ก่อตัวเป็นภูมิทัศน์ใจกลางเมืองที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตามท้องถนน
ซึ่งในเวลาต่อมา ชาวเมืองถูกเวนคืนพื้นที่ เพื่อเปิดทางให้กับ “การเสริมโครงสร้างยกระดับจากแผ่นดินไหว” จึงส่งผลให้สถานที่ดังกล่าวถูกทิ้งร้างให้ว่างเปล่าเป็นเวลาหลายปี แต่ได้เริ่มนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการสร้างเป็นโรงเรียนอนุบาล
โครงสร้างทางยกระดับที่ตัดผ่านตัวเมืองโตเกียวมีคานสูง 3.9 เมตร และมีระยะความกว้างระหว่างเสา 6 เมตร ซึ่งมีความกว้างที่เหมาะสำหรับการสร้างพื้นที่ ห้องเรียน หรือห้องอเนกประสงค์ภายในโรงเรียน
ทางสถาปนิกก็ยังออกแบบหลังคาขนาดใหญ่ยาว 70 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของโครงสร้างยกระดับ และขนาดของสถาปัตยกรรม รวมถึงยังทำผนังของโรงเรียนให้ปลอดภัยและห่างไกลอันตรายจากความเร่งรีบของการจราจรบนท้องถนน
นอกจากนี้ ภายใต้สะพานยกระดับ ที่ถูกทำเป็นหลังคาขนาดใหญ่ของโรงเรียนยังมีสนามเด็กเล่นกึ่งกลางแจ้งที่ไม่เหมือนใคร หลังคาที่สูงช่วยเป็นกำบังสนามเด็กเล่นจากแดดจ้า ฝน และทำให้แสงยังสอดส่องได้อย่างเพียงพอ ภายในโรงเรียนมีเครื่องเล่น และลานซักล้าง ลานจอดจักรยานคอยให้บริการอีกด้วย
จากสถานที่ที่ดูอันตราย น่ากลัว ถูกทำให้ปลอดภัย และทำให้ชาวเมืองที่สัญจรผ่านไปมาเกิดความสบายใจ และมีความสดใส เนื่องจากมองเห็นทิวทัศน์ของเด็ก ๆ คอยวิ่งเล่นบนสนามหญ้าสีเขียว เพลิดเพลินไปกับดอกไม้และต้นไม้ที่ปลูกบริเวณโรงเรียน
ในเมืองที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในเมืองให้ตอบโจทย์ และสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย ถือเป็นหัวใจสำคัญหลักของการพัฒนาเมือง
ดังนั้น โรงเรียนอนุบาลใต้ทางรถไฟรกร้างแห่งนี้ถือเป็นแนวทางดี ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรญี่ปุ่นที่ขาดแคลนพื้นที่บ่มเพาะเลี้ยงต้นกล้าอ่อนรอการเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
อ้างอิง: archdaily