Soonicorn อนาคตใหม่เอเชีย | ต้องหทัย กุวานนท์
ข่าวร้ายๆ ของการปลดพนักงานสายเทคในเอเชียอย่างต่อเนื่องนับหมื่นตำแหน่งในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า อะไรจะเป็น “What’s Next” ที่ขับเคลื่อนธุรกิจเอเชียในทศวรรษหน้า
ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์ที่เป็นเบอร์หนึ่งการให้บริการเรียกรถและส่งสินค้าก็ยังเตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่อีกกว่า 1000 ตำแหน่ง โดยเป็นการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สถานการณ์โควิด
ผู้บริหารให้เหตุผลว่า นั่นคือการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือถ้าจะตีความก็คือ ตลาดเติบโตน้อยลง คู่แข่งมีมากขึ้น องค์กรจึงจำเป็นต้องลดขนาดเพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว และต้นทุนการแข่งขันต่ำลง
การปรับโครงสร้างธุรกิจของเหล่ายูนิคอร์นเอเชียในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์ธุรกิจมองว่า อนาคตเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเอเชียอาจต้องพึ่งพากำลังขับเคลื่อนที่มากกว่ากลุ่มอีคอมเมิร์ซหรือกลุ่มธุรกิจที่เป็นซูเปอร์แอป
บทวิเคราะห์ล่าสุดของ KPMG บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ธุรกิจในเอเชียจะต้องจับตามองกลุ่มธุรกิจที่เป็น “Soonicorn” ไว้ให้ดีเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าสตาร์ตอัปที่กำลังขยายตัวในกลุ่ม 7 เซ็กเตอร์หลักนี้
1.ESG Tech 2.Fintech 3.Agritech 4.Digital Health 5.Smart Cities 6.Web3 7.AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจเอเชีย ที่มีฐานผู้บริโภคที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ถึงกว่า 750 ล้านคนซึ่งคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีศักยภาพและจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคต
คำจำกัดความของธุรกิจที่เป็น “Soonicorn” ก็คือ ธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ผ่านการระดมทุนจนมีมูลค่าธุรกิจอยู่ในระดับ 400-600 ล้านดอลลาร์ มีการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20-40% ต่อปี และกำลังไต่ระดับสู่การเป็นยูนิคอร์นที่พันล้านดอลลาร์
ด้วยคำจำกัดความนี้ ธุรกิจในกระแสหลักโดยเฉพาะกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็น อีคอมเมิร์ซหรือมาร์เก็ตเพลสส่วนใหญ่จะตกเกณฑ์เพราะการเติบโตได้เลยจุดสูงสุดและเข้าสู่จุดปรับฐานไปแล้ว
กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในทศวรรษใหม่นี้จะกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจที่เข้ามาพร้อมกับทิศทางเทคโนโลยีและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปี 2565 สิบบริษัทที่ถูกจัดเป็นยูนิคอร์นหน้าใหม่ของเอเชีย 50% อยู่ในเซ็กเตอร์ธุรกิจ ESG Tech เช่น อีวี และ แบตเตอรี่ และที่น่าสนใจคือ 90% ของยูนิคอร์นหน้าใหม่มีฐานธุรกิจในประเทศจีน
ส่วน “Soonicorn” สองบริษัทที่มาแรงในกลุ่มนี้คือ SinoHyKey ผู้พัฒนาพลังงานสะอาดที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนจากจีนและ APB ผู้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นอกเหนือจากกลุ่ม ESG กลุ่มธุรกิจอื่นๆที่มี “Soonicorn” ที่มีศักยภาพและกำลังไต่ระดับไปเป็นยูนิคอร์นก็คือ กลุ่ม Fintech, Digital Health และ Agritech
สตาร์ตอัปที่อยู่แถวหน้าและระดมทุนได้แตะ 700 ล้านดอลลาร์แล้วก็จะมี Thunes ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศจากสิงคโปร์ Synyi สตาร์ตอัปเฮลธ์เทคจากจีน ที่ใช้เอไอวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ และ Ninjacart สตาร์ตอัปจากอินเดียที่บุกเบิกตลาดซัพพลายเชนทางการเกษตร
การปรับฐานของธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มสู่ธุรกิจเซ็กเตอร์ใหม่ที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและวิถีการใช้ชีวิต องค์กรอาจต้องเปลี่ยนเลนส์มุมมองในการลงทุนใหม่และ “กล้า” ที่จะเดิมพันกับ “Soonicorn” มากกว่ายึดติดกับภาพการเติบโตของยูนิคอร์นอย่างในอดีต