เมื่อ Social Media มีมากเกิน | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อ Social Media มีมากเกิน | พสุ เดชะรินทร์

การเปิดตัว Threads โดย Meta เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ถ้ามองเชิงกลยุทธ์ธุรกิจก็มีความน่าสนใจและน่าติดตามทั้งของ Meta และการตอบสนองของ Twitter แต่ถ้ามองในมุมของผู้ใช้งานนั้น คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ มีสื่อสังคมออนไลน์เยอะเกินไปหรือเปล่า?

ลองนึกดูว่าปัจจุบันในมือถือของท่านมีแอป Social media อยู่ทั้งหมดกี่แอป? จากกรณีกลุ่มตัวคน Gen X รอบๆ ตัว ก็จะมีการโพสต์และติดตามข่าวคราวของคนรู้จักผ่านทาง Facebook ติดตามดารา นักร้อง ร้านขายของผ่านทาง Instagram ติดตามข่าวสารต่างๆ ไม่ว่ารถจะติด ไฟไหม้ หรือข่าวการเมืองผ่านทางทวิตเตอร์ 

ติดตามศิลปินที่ชอบ เทรนด์ใหม่ๆ หรือคลิปสั้นๆ สนุกๆ ผ่านทาง TikTok ยังไม่นับสื่ออื่นๆ ที่เข้าไปดูความเคลื่อนไหวหรือข่าวคราวเป็นประจำอย่างเช่น Line หรือ YouTube และสุดท้ายเมื่อมีแอปใหม่อย่าง Threads เกิดขึ้น ก็ต้องเข้าไปเล่นดูเนื่องจากกลัว FOMO (Fear of missing out)

พฤติกรรมข้างต้นก็สอดคล้องกับผลวิจัยเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย จาก Statista ซึ่งเป็นข้อมูลของไตรมาส 3 เมื่อปี 2565 โดย Facebook และ Line คนไทยใช้งานมากกว่า 90% ตามด้วย Facebook Messenger (80%) TikTok (78%) Instagram (66%) Twitter (51%) และการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกัน (อ้างอิงจากใน Statista) พบว่าคนไทยใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์ อยู่ที่ 2 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวันโดยเฉลี่ย

สำหรับสาเหตุที่คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นจากข้อมูลของปี 2565 ใน Statista ระบุว่า 1.การติดตามข่าวสารของครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก 2.การติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆ 3.การใช้เวลาว่าง 4.ติดตามข่าวสารที่กำลังอยู่ในกระแส 5.หาแรงบันดาลใจในสิ่งที่จะทำหรือจะซื้อ 6.แสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 7.กลัวตกเทรนด์ หรือ FOMO (Fear of missing out) และ 8.เพื่อซื้อของ

สิ่งที่ต้องระวังคือการเกิดภาวะที่เรียกว่า Social media overload หรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เกินพิกัด ซึ่งจริงๆ ในอดีตก็เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว จนกระทั่งต้องมีการทำ Digital/Social media Detox 

ในอดีตนั้นภาวะข้างต้นเกิดขึ้นเนื่องจากเสพติดสังคมออนไลน์มากเกินไป และส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ปัญหาสุขภาพจิต พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ

แต่เมื่อการแข่งขันทางธุรกิจทำให้บริษัทออกแอปสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเจาะช่องว่างที่มีอยู่และเป็นอีกหนึ่งหนึ่งช่องทางในการเติบโตของบริษัท

ภาวะ Social media overload ในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่มาจากการเสพที่เยอะเกินไปอย่างเดียว แต่จะเป็นจากการมีแอปสื่อสังคมออนไลน์ที่มากเกินไป และมีความรู้สึกว่าจะต้องเข้าไปดูหรือเล่นในทุกแอป มิฉะนั้นจะตกกระแสหรือตามข่าวไม่ทัน และนำไปสู่จำนวนชั่วโมงต่อวันที่อยู่บนโลกสังคมออนไลน์ก็จะเพิ่มตามไปด้วย

สำหรับทางฝั่งผู้สร้างเนื้อหา (หรือคอนเทนต์) การมีสื่อสังคมออนไลน์ที่จำนวนมากขึ้นก็สร้างความปวดหัวได้เหมือนกัน จากในอดีตที่ต้องสร้างเนื้อหาหรือโพสต์ลงเพียงแค่ 3-4 แพลตฟอร์ม ก็ต้องขยายออกเป็น 5-6 แพลตฟอร์ม รวมทั้งยังต้องคอยไปตอบคำถาม กดไลก์ กดเลิฟ ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ครบถ้วนอีกด้วย

ล่าสุดเริ่มเห็นข่าวแบรนด์ดังระดับโลกบางแบรนด์ (เช่น Lush Cosmetics) ก็ได้เริ่มหยุดการมีตัวตนในโลกสังคมออนไลน์บางแพลตฟอร์มไปแล้ว โดยให้สาเหตุว่าเนื่องจากมองว่าสื่อสังคมออนไลน์หลายแห่งกลายเป็นเครื่องมือของบริษัทที่ใช้ Algorithms มากกว่าเป็นชุมชนของผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันเหมือนในอดีต

ธุรกิจหลายแห่งก็จะเริ่มมุ่งเน้นเฉพาะบางแพลตฟอร์มเป็นหลัก ไม่ได้สร้างตัวตนไปในทุกแพลตฟอร์มเหมือนในอดีต

ดังนั้น สำหรับผู้บริโภคแล้ว เมื่อสื่อสังคมออนไลน์มีมากขึ้น และถ้าไม่อยากเกิดภาวะโอเวอร์โหลด ก็อาจจะต้องวางกลยุทธ์โซเชียลมีเดียของตัวเองดีๆ ว่าจะมุ่งเน้น หรือเลือกที่จะมีตัวตน และเข้าไปติดตามในแพลตฟอร์มไหนเป็นหลัก