วช.โชว์เคส ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เปิดช่องวิจัยไทยสู่สตาร์ตอัป

วช.โชว์เคส ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เปิดช่องวิจัยไทยสู่สตาร์ตอัป

จมูกอิเล็กทรอนิกส์กระเป๋าหิ้วและเอไอติดตามจับกุมคนร้าย สองนวัตกรรมถูกนำมาจัดแสดงในงาน “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยกับการสร้างสรรค์ผลงาน

E-nose ในอุตสาหกรรมอาหาร

เทคโนโลยีตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล สำหรับการวิเคราะห์คุณภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม หรือ “จมูกอิเล็กทรอนิกส์กระเป๋าหิ้ว" (E-nose) เป็นสิ่งประดิษฐ์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจสตาร์ตอัปชื่อ “เอ็มยูไอ โรบอติกส์” (MUI Robotics)

เศรษฐา สียัง ผู้ร่วมก่อตั้ง MUI Robotics กล่าวว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของเครื่องตรวจวัดกลิ่นดิจิทัลแบบกระเป๋าหิ้ว และดิจิทัลแบบตั้งโต๊ะ ที่มีความสามารถเปลี่ยนข้อมูลกลิ่นไปเป็นข้อมูลดิจิทัล ใช้วิเคราะห์กลิ่นด้วยเอไอ สามารถนำไปใช้กับงานอาหารและเครื่องดื่ม

เช่น การคัดเลือกวัตถุดิบเข้าโรงงาน การรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิต การตรวจสอบแหล่งที่มา การตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร

วช.โชว์เคส ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เปิดช่องวิจัยไทยสู่สตาร์ตอัป

นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำไปใช้งานกับภาคอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอาง ตลอดจนใช้กับงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การหาแหล่งกำเนิดกลิ่นที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบฟาร์มปศุสัตว์ ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แก่โรงงานเพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นรบกวน เป็นต้น

การทำงานของเครื่องดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การใช้ผู้เชี่ยวชาญสอนเอไอเพื่อให้ได้กลิ่นตรงตามมาตรฐาน
  2. การให้เอไอดมกลิ่นตัวอย่างโดยตรง หลังจากตรวจวัดกลิ่นเสร็จ เอไอจะแปลงข้อมูลกลิ่นออกมาเป็นข้อมูลดิจิทัล ได้แก่ ตัวเลขที่บอกค่าต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจเช็กค่าอีกรอบ เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานที่วางไว้ได้

“การพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์เป็นการลดภาระงานของนักดม เพราะนักดมที่เป็นมนุษย์ส่วนใหญ่มักพบปัญหาเรื่องสุขภาพ และมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการดมในแต่ละวัน อาจจะดมได้ไม่กี่กลิ่น ดังนั้น ไอเอจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องนี้” เศรษฐา กล่าว

ปัจจุบัน MUI Robotics จำหน่ายเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศในเขตอาเซียน และยุโรป โดยกลุ่มลูกค้าที่สนใจ ได้แก่ ธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงการขอมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายการจำหน่ายไปสู่ตลาดยุโรปและตลาดโลก

“ต่างประเทศมี E-nose ในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่จุดเด่นของทีมวิจัยคือ การที่เราผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีจากคนไทยโดยตรง ราคาจะถูกกว่าการนำเข้า และมีการบริการหลังการขายที่ใกล้ชิดกว่า จึงมองว่า นวัตกรรมของเราจะตอบโจทย์การใช้งานของคนไทยโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ” เศรษฐา กล่าว

วช.โชว์เคส ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เปิดช่องวิจัยไทยสู่สตาร์ตอัป

เอไอติดตามจับกุมคนร้าย

ระบบการติดตามจับกุมคนร้ายโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ งานวิจัยที่ได้รับรางวัลเวทีระดับนานาชาติ ในงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ฐิตาภรณ์ กนกรัตน ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ระบบการติดตามจับกุมคนร้ายโดยใช้เอไอ ถูกนำมาใช้ในงานตำรวจเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอาชญากรรมผ่านระบบกล้อง CCTV อัจฉริยะ

การทำงานของระบบดังกล่าวสามารถตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในฉากของวิดีโอ โดยมีการรับภาพจากกล้อง CCTV และใช้เทคนิค Generative Adversarial Networks หรือ GAN เพื่อหาจุดผิดปกติ ระบุเวลาที่เกิดเหตุ ระบุใบหน้าผู้ก่อการร้าย สี ป้ายทะเบียนรถยนต์ จากนั้นจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อระบบไว้

“เมื่อใช้เอไอเข้ามาช่วย จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความปลอดภัยและพร้อมในการเข้าเผชิญกับภารกิจ ยังลดภาระงานตรวจสอบบางส่วน เพราะมีเอไอคอยสอดส่องอีกแรง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจได้มากขึ้น” ฐิตาภรณ์ กล่าว

ปัจจุบันระบบเอไอติดตามจับกุมคนร้ายถูกนำไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย มจธ. ได้ร่วมร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยมีหน่วยงานทางการศึกษานอกสังกัดตำรวจ 18 หน่วยงาน พร้อมหน่วยงานด้านการศึกษาภายในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 21 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของเครื่องมือและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

วช.ผลักดันวิจัยไทย

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น

การประกวดดังกล่าว เป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ได้นำนวัตกรรมที่ตนเองคิดค้นออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ก็เพื่อให้คณะทำงานพิจารณาประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพัฒนาผลงานต่อไป

สำหรับผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 จะเข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567” ระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ.2567