การพัฒนาอุตสาหกรรม | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ถึงวันนี้ ผมก็ยังมีความเชื่อมั่นใน “ภาคการผลิตที่แท้จริง” (Real Sector) ที่เน้นย้ำถึงการผลิตสินค้าหรือสร้างวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งมี “มูลค่าที่แท้จริง”
ที่สามารถตีราคาหรือกำหนดคุณค่าได้จริงๆ เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันตามความพึงพอใจ หรือเพื่อความจำเป็นในการใช้สอยเพื่อประโยชน์ต่างๆ
ว่าไปแล้ว มนุษยชาติมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เกี่ยวข้องกับ “การผลิต” หรือ “การสร้าง” ที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งปลูกสร้าง ศิลปะ วัฒนธรรมและอื่นๆ อีกมากมาย อันเกิดจาก “แรงงาน” ของคนเป็นเบื้องต้น
และต่อมาได้พัฒนาจนเป็นการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลิตสิ่งของต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อการใช้สอยและการดำรงชีวิตของมนุษย์เท่าถึงทุกวันนี้
สิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาทิ กำแพงเมืองจีน พีระมิด เรือสำเภา หอไอเฟล ตลอดจนถ้วยชามสังคโลก เครื่องใช้เบญจรงค์ จนถึงอาคารบ้านพักอาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สมุด ดินสอ เครื่องเขียน หนังสือ
และสารพัดอย่างในปัจจุบัน ต่างต้องอาศัย “การผลิต” (การสร้างขึ้นมา) แทบทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าของเราทุกคน และข้าวของเครื่องใช้รอบตัวเรา
ยิ่งในยุคของ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) และ “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพ” “การเพิ่มผลผลิต” “นวัตกรรม” “การสร้างมูลค่าเพิ่ม” และ “เทคโนโลยี” ด้วยแล้ว การผลิต (Production) และการปฏิบัติการ (Operation) ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
ปัจจุบัน เราจึงควรเน้นถึงความสำคัญของ “การผลิต” และ “นักการผลิต” ด้วยสำนึกของ “การสร้าง” เพราะ “นักการผลิต” จะเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือการให้บริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพ” (ทำได้เร็วขึ้น ดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น) “การลดต้นทุน” (ทำให้สินค้าราคาถูกลง) และ “คุณภาพ” (ทำให้ได้ของดีถูกใจลูกค้า) ซึ่งเป็น “ปัจจัยสำคัญแห่งควมสำเร็จ” ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ
“การวางแผนการผลิตที่ดี” จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การเลือกใช้เทคโนโลยี การออกแบบกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย จนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า
คือ ต้องวางแผนและบริหารจัดการตั้งแต่ต้นจนจบ (ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ) อย่างครบวงจร (เริ่มจากวัตถุดิบ จนผลิตเป็นสินค้าส่งถึงมือลูกค้า) ซึ่งมักจะอยู่ในการกำกับ ควบคุมและดูแลของ “นักการผลิต” อันเป็น “ตัวชี้วัด” ของความอยู่รอดและยั่งยืนของกิจการ
กระบวนการผลิตหรือวิธีการผลิตที่ว่านี้ ยังมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปัญหาเรื่องอุบัติเหตุอันตราย ความปลอดภัยในการทำงาน ความเสี่ยงภัย การลดของเสีย การลดมลพิษ การแก้ไขปรับปรุงมลภาวะ (ขยะ น้ำเสีย อากาศเสีย)
และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นระบบมาตรฐาน อันเป็น “เงื่อนไขสำคัญ” ของ “ความอยู่รอด” และ “ความยั่งยืน” ของธุรกิจอุตสาหกรรม และทุกองค์กรในปัจจุบัน
ดังนั้น นโยบายภาครัฐที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรม 4.0” และ “ประเทศไทย 4.0” ที่มีเป้าหมายในการทำให้พวกเราคนไทยหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นถ้วนหน้า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
บทความของ พล.ท.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 จึงเป็นกรณีตัวอย่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจีนที่น่าศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง สรุปความได้ว่า “รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเป่าจี (Baoji) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลส่านซี (Shaanxi Province) บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ได้ขานรับแนวคิด “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Made in China 2025” ที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพการเป็นประเทศผู้ผลิตสู่มหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมการผลิตของโลก และพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจผู้ผลิตชาวจีนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเป่าจีได้ประกาศ “แผนพัฒนาการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 5 ปี (ปี 2016-2020 หรือ พ.ศ.2559-2563)” ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ฉบับแรกของเมือง กล่าวคือ
- เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
- สนับสนุนสายการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในรูปแบบที่ยืดหยุ่นสามารถใช้งานได้หลากหลาย (Flexible Production Line) 3.เน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างต่างๆ ในพื้นที่ให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้
แนวคิดของจีนในการประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Made in China 2025” เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อปี 2015 (พ.ศ.2558) เพื่อผลักดันประเทศจากการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตไปเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการผลิตของโลกใน 10 ปีข้างหน้า
โดยรัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นถึงความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม การประสานเทคโนโลยีเข้าในกระบวนการอุตสาหกรรม การเป็นฐานการผลิตที่ความแข็งแกร่ง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ของจีน รวมถึงการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม…”
ทุกวันนี้ ความต่อเนื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับ ภาคการผลิตของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จึงต้องเร่งดำเนินการพร้อมๆ กับ “การสร้างคน” ให้ตรงกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมๆ กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืนด้วย ครับผม!