ซินโครตรอนถอดสูตรทำอิฐ “เมืองโบราณศรีเทพ” เตรียมบูรณะโบราณสถาน
ซินโครตรอนร่วมถอดสูตรทำอิฐ "เมืองโบราณศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเตรียมบูรณะโบราณสถาน ด้าน GISTDA เปิดภาพจากดาวเทียมร่วมยินดีอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นับเป็นอีกความภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยเมื่อ “เมืองโบราณศรีเทพ” ใน จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งก่อนมีการประกาศข่าวดีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมศึกษาก้อนอิฐโบราณเพื่อผลิตอิฐสูตรโบราณสำหรับการบูรณะโบราณสถาน
ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า เมืองโบราณศรีเทพมีจุดเด่นที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์
ซึ่งเมื่อประมาณ มี.ค. 2566 คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.ราชภัฏนครราชสีมา, ม.ศิลปากร และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขุดสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบปัญหาในบูรณะโบราณสถานที่เพิ่งขึ้นทะเบียนมรดกโลก
“อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือ เป็น"อิฐดินเผาผสมแกลบ" แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่าก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน
ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ” ดร.วุฒิไกร หนึ่งในทีมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก “เขาคลังนอก” โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์
โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้เปิดภาพจากดาวเทียมเพื่อร่วมยินดีที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลก
โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพรับการประกาศขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโกเมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย. 2566 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย
นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และยังเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยอีกด้วย ซึ่งดาวเทียม WorldView-3 ได้บันทึกภาพไว้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 แสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่อุทยานฯ ที่มีลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย
เมืองโบราณแห่งนี้มีคูเมืองเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ ซึ่งถูกโอบล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบที่มีร่องรอยหลักฐานสะท้อนถึงการดำรงชีวิตของประชาชนที่เรียบง่ายตามวิถีดั้งเดิมของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ WorldView-3 เป็นดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงสามารถบันทึกภาพพื้นที่ได้มากถึง 680,000 ตร.กม. บันทึกภาพได้ทั้งระบบช่วงคลื่น Panchromatic และช่วงคลื่นอื่นๆ อีกมากถึง 16 แบนด์
เช่น Multispectral ระดับ 1.24 เมตร, Short-wave Infrared ระดับ 3.7 เมตร และ CAVIS ระดับ 30 เมตร ที่รวมเรียกว่า “Super-spectral” ด้วยคุณสมบัติที่ให้ข้อมูลภาพรายละเอียดสูงจึงเหมาะสมกับการนำไปใช้ในที่ต้องการภาพข้อมูลพื้นผิวโลกที่ชัดเจน
เช่น การขยายตัวเมือง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แยกแยะรูปแบบการปลูกพืช/ชนิดพืช งานด้านสมุทรศาสตร์ งานแผนที่รายละเอียดสูง และงานภัยพิบัติ เป็นต้น