มหิดลพบ “มอสส์ทองแดง” ใช้บำบัดโลหะหนัก-ขยายพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ
ทีมวิจัยม.มหิดล ค้นพบพืชจิ๋ว “มอสส์ทองแดง” พืชหายาก สรรพคุณใช้บำบัดโลหะหนัก และสามารถปลูกขยายพันธุ์ใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
มอสส์ทองแดง (Rare copper moss; Scopelophila cataractae) เป็นมอสส์ชนิดหายาก สามารถใช้ในการบำบัดโลหะหนัก ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังช่วยต่อชีวิตมนุษย์ - ชีวิตโลกได้
รศ.ดร.วีระเดช มีอินเกิด อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ ม.มหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยค้นพบมอสส์ทองแดงขณะลงพื้นที่ภาคสนามบริเวณน้ำตก - ลำธาร วัดผาลาด ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พร้อมนักวิจัยม.เชียงใหม่ โดยได้เก็บตัวอย่างมอสส์ทองแดงมาศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการเพื่อดูโครงสร้าง และโอกาสการนำไปใช้ประโยชน์
ผลวิจัยพบว่า มอสส์ทองแดง แม้จะจัดเป็น “พืชจิ๋ว” แต่ก็มีความทนทาน ปรับตัวได้ และสามารถใช้บำบัดโลหะหนักชนิดต่างๆ อาทิ ทองแดง และแคดเมียม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นดัชนีชีวภาพเพื่อประเมินผลกระทบมลภาวะที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เนื่องด้วยมอสส์ทองแดง มีโครงสร้างที่ไร้ผนังเคลือบเซลล์ จึงทำให้สามารถดูดดึงเอาโลหะหนัก และสะสมเข้าไปเก็บไว้ในเซลล์ได้เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 1 หมื่นมิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงกว่าพืชที่มีขนาดใหญ่กว่า
ทีมวิจัยยังดำเนินงานวิจัยเพื่อตรวจสอบศักยภาพของมอสส์อีกหลายชนิด ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีรายงานการปนเปื้อนแคดเมียม และสังกะสี เป็นระยะเวลาหลายสิบปี
จากการสำรวจ ยังพบมอสส์ชนิด Bryum coronatum ที่สะสมปริมาณสังกะสีในเนื้อเยื่อมากกว่า 300,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ Philonotis thwitessii สะสมปริมาณแคดเมียมถึง 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเหมาะในการนำมาใช้เป็นพืชบำบัดโลหะหนัก และดัชนีชีวภาพได้
การค้นพบคริสต์มาสมอสส์ (Christmas Moss) ยังเป็นพืชจิ๋วที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ โดยสามารถปลูกขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมาก จึงสามารถนำมาใช้ตกแต่งอาคาร สถานที่ และน้ำตกเพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม