‘ไทย-สเปน’ พัฒนาพันธุ์ข้าว โภชนาการสูง-น้ำตาลต่ำ-ทนโรค
ไทย-สเปน นำร่องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง โดยนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรีคนแรกของไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือทวิภาคี (TLSIP - Thailand & Spain Innovating Program) โดย บพข.
นับเป็นความร่วมมือด้านนวัตกรรมครั้งแรกของ ไทย-สเปน ที่นำวิจัยและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาทั้งสองประเทศให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้โครงการความร่วมมือทวิภาคี (TLSIP - Thailand & Spain Innovating Program) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) Centre for Industrial Technological Development (CDTI) และหน่วยงานสนั บสนุนทุนวิจัย ประเทศสเปน
ในความร่วมมือแรกนี้ เริ่มต้นจากการพัฒนาด้านเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่แข็งแรงสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาหารสุขภาพมูลค่าสูงดังกล่าวคือ “การปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว” หรือ “Innovarice Thai” ซึ่งจะผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง Indica กับ Japonica เพื่อให้ได้ข้าวโภชนาการสูงตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสองประเทศ
ศ.อภิชาติ วรรณวิจิตร
นักวิจัยไทยนำโดย ศ.อภิชาติ วรรณวิจิตร อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) คนแรกของไทย
Temperate Japonica เป็นข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นเขตร้อน ได้รับการพัฒนาจากศูนย์พันธุ์ข้าว (Copsemar) ประเทศสเปน ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรค มีอมิโลสสูง กับข้าวคู่ผสม Indica มีสีม่วง ให้ผลผลิตสูง มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยลดการเกิดโรคอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยสามารถปรับให้เข้ากับสภาพการปลูกทั้งในยุโรปและไทย
"โจทย์ทางสเปนต้องการข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทนทานต่อโรค เขาอยากรับประทานข้าวสี เช่น ข้าวกล้อง จึงทำให้เกิดการวิจัยร่วมกัน ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเกิดข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำลงเรื่อยๆ ตลอดจนดัชนีน้ำตาลเป็นศูนย์เลยก็ได้"
"จึงเป็นโอกาสการเติบโตของนวัตกรรมข้าวของทั้งสองประเทศและเป็นความท้าทาย เพราะพันธุ์ข้าวที่ได้จะเป็นข้าวระดับโลก มีฟังก์ชันที่เติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศทั้งสองประเทศ โดยเราต้องใช้เทคโนโลยีจากทั้งสองฝ่าย" ศ.อภิชาติ กล่าว
ฮาเวียร์ ปองเซ่ ผู้อำนวยการ CDTI กล่าวว่า ความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรมสเปน -ไทย ที่กำลังเกิดขึ้นจะครอบคลุมในทุกมิติของการวิจัยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเชิงหน้าที่ รวมถึงกระบวนการผลิตที่สร้างมูลค่าให้แก่ของเสียจากเกษตรอาหาร จึงมั่นใจว่าจะเป็นแรงผลักดันในการหาทางออกของระบบการผลิตอาหารสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีระยะเวลา 3 ปี (2024-2026) ซึ่งในปีข้างหน้าต่อจากนี้จะเน้นการจับคู่และขยายผลทางธุรกิจของผู้ประกอบการ นักวิจัยไทย-สเปน โดยใน 2 ปีข้างหน้าจะขยายความร่วมมือไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และสุขภาพการแพทย์ เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้แก่สองประเทศ
โครงการนี้เป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของ บพข. เพื่อเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแผนงาน Global Partnership โดยเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยและเอกชนไทย กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัย และภาคเอกชน ให้เกิดความร่วมมือแบบไร้พรมแดน และมีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของสังคมของสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือทวิภาคี ด้านนวัตกรรมไทย-สเปน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเชิงหน้าที่ รวมถึงกระบวนการผลิตที่สร้างมูลค่าให้แก่ของเสียจากเกษตรอาหารอย่างยั่งยืน