ปั้น Ag Biotech สู่การเกษตรยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์
ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่กำลังเข้มข้นอยู่ขณะนี้ มีหนึ่งในความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่เกิดขึ้น
นั่นคือ การที่ผู้นำประเทศกว่า 130 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามใน “ปฏิญญาเกษตรยั่งยืน ระบบอาหารยืดหยุ่น และ การรับมือสภาพภูมิอากาศ” โดยพร้อมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการบูรณาการเกษตรกรรมยั่งยืน
โดยเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา การเร่งสร้างนวัตกรรมทางการเกษตร และให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้ภาคการเกษตรพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างระบบอาหารที่จะรองรับประชากรโลก 9 พันล้านคนให้ได้ภายในปี 2050
ข้อมูลจาก FAO ระบุว่าประชากรทั่วโลกกว่า 20% กำลังประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและแอฟริกา ความเร่งด่วนคือการนำเอานวัตกรรมเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนในห่วงโซ่อาหารทั้งหมด ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยไปจนถึงผู้บริโภค
ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรจะเน้นเรื่อง “เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ” ที่จะตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและการเพิ่มผลผลิต แต่ในปัจจุบันเป็นการมุ่งเน้นไปที่การวิจัยทางการเกษตรเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช และการยกระดับนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน ที่จะปฏิรูประบบเกษตรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้
ตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการเกษตรยั่งยืนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสารชีวภาพทดแทนยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ผู้ลงทุนหลักในเทคโนโลยีด้านเกษตรยั่งยืนไม่ได้มีแค่ผู้นำอุตสาหกรรมเกษตรอย่าง Syngenta, Bayers และ BASF
แต่กองทุนของผู้ก่อตั้งบิ๊กเทคอย่าง บิล เกตส์ และ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ล่าสุดก็เข้าลงทุนในบริษัท Ag Biotech มาแรงอย่าง Sound Agriculture ผู้พัฒนาสารชีวภาพที่ช่วยกระตุ้นจุลินทรีย์ในดิน เพิ่มสารอาหารอาหารให้พืช สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงสภาพดินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน Sound Agriculture มีมูลค่าธุรกิจกว่า 6 พันล้านดอลลาร์
ในฝั่งเอเชีย แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ก็กำลังซุ่มทำวิจัยเรื่องการเกษตรยั่งยืนและการผลิตอาหาร และมีข่าวว่าจะลงทุนปั้นสตาร์ตอัปในกลุ่มนี้ ความตื่นตัวเรื่องการเกษตรยั่งยืนทำให้สตาร์ตอัปในกลุ่ม Ag Biotech เติบโตอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลจาก Agfunder ระบุว่าเงินลงทุนในธุรกิจ Ag Biotech ในเอเชียและสหรัฐ เติบโตขึ้นถึงเกือบพันล้านดอลลาร์ และเป็นการลงทุนในตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย
จากนี้ไป Ag Biotech จะกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนการทำเกษตรแบบยั่งยืน เริ่มตั้งแต่กระบวนการพัฒนาและปรับปรุงพันธุกรรมของพืช การใช้สารชีวภาพเพื่อการดูแล ปกป้องพืช รักษาสภาพดิน ไปจนถึงการนำเอาข้อมูลไปใช้เพื่อปรับปรุงห่วงโซ่ทางการเกษตรซึ่งจะนำไปสู่การปฏิวัติสีเขียวในยุคต่อไป
ความท้าทายของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเกษตรยั่งยืน ปัญหาไม่ได้อยู่แค่เรื่องของเงินลงทุนหรือการสร้างโมเดลธุรกิจ แต่ปัญหาใหญ่ยังคงอยู่ที่สองเรื่องหลักคือ การยึดถือวิถีการเกษตรแบบเดิมๆ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในวัยกลางคนถึงสูงวัยทำให้การตอบรับต่อเทคโนโลยี (Tech Adoption) เกิดขึ้นได้ช้าและทำได้ยาก
เรื่องที่สองที่สำคัญมากคือ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากภาครัฐที่จำเป็นต้องมีการบูรณาการกันมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นความเปราะบางในภาคการเกษตร จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอาจลงเอยด้วยปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว