“สิทธิประโยชน์-พลังงานสะอาด” ดึงการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
“การลดปลดปล่อยคาร์บอน”เป็นวาระที่ทุกประเทศให้ความสำคัญสู่การประชุมConference of the Parties ซึ่งเป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP28
ที่มีความคาดหวังให้เกิดแรงผลักดันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและต่อประเทศไทย ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ“ภาคการลงทุน” ในงานสัมมนาออนไลน์ “Thailand-Japan Sustainable Business Seminar (online) for Carbon Neutrality” จัดโดย
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO)
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EECO กล่าวว่า โอกาสในด้านการลงทุนแบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยบทบาทของ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก)ในการสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) มีเป้าหมายยกระดับ ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นสาขา Decarbonization ผ่านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ในการลงทุนในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนส.ค.พบว่ามูลค่าการลงทุนที่ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG แล้วกว่า 140,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของภาคเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 11,200 ล้านบาท หรือ 8% ของการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG และมีแนวโน้ม เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาEECเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระหว่างปี 2566-2570 ว่าด้วยการสร้างปัจจัยการลงทุนสำหรับการลงทุนต่อเนื่อง และการลงทุนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1.ส่งสริมการวิจัยในเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สอดรับกับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.ขับเคลื่อนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง 4.พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
ในส่วนสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขต พื้นที่ EEC นั้นมีปัจจัยที่จะใช้ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ นอกจาก ความสำคัญของการลงทุนต่อห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainable) การลดหรือกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิต และการมีส่วนช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้วย
รวมถึงผลักดันให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนในการลงทุนที่ยั่งยืน โดยกำหนดธุรกิจ เป้าหมาย ได้แก่ 1.เทคโนโลยีด้านพลังงานเช่นพลังงานสะอาด Smart Grid จนถึงพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว 2.เทคโนโลยีด้านรีไซเคิล โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ End of life management
3.เทคโนโลยีด้านการจัดการคาร์บอน เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture utilization and storage: CCUS) รวมถึง การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นฤตม์ เทอดสถรีศักดิ์ เลขาธิการBOI กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมากในกลุ่ม BCG โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ที่มีการวิจัยและพัฒนาโดยใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืชและสัตว์ ในการผลิตสารชีวโมเลกุลและสารออกฤทธิ์ชีวภาพ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับ อุตสาหกรรม BCG ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด สามารถ ตอบโจทย์บริษัทชั้นนําที่มีความต้องการพลังงานสะอาดได้อย่างดี โดยกระทรวงพลังงานกําลัง พัฒนากลไกที่ชื่อว่า Utility Green Tariff ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการจัดหาพลังงานสะอาด ให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต 12,000 GWh (กิกะวัตต์-ชั่วโมง)ภายในปี 2030
นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เริ่มตั้งแต่ EV3 ต่อเนื่อง มาถึง EV3.5 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและ BOI ให้ความสําคัญกับการสนับสนุน ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น เปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน(Internal Combustion Engine: ICE)ไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดการประหยัด พลังงาน หรือใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นระบบ Hybrid, PHEV, BEV, Fuel Cell, หรือ Hydrogen
ภาคการลงทุนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ของความยั่งยืนแต่การจะดึงเม็ดเงินลงทุนมาสู่เป้าหมายนี้ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่าง ทัั้งสิทธิประโยชน์-เทคโนโลยี-พลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยกำลังจัดวางทุกองค์ประกอบเพื่อบรรลุแผนดึงการลงทุนใหม่ที่มีความยั่งยืนเป็นโจทย์ใหญ่