ภาคเกษตรไทยกับความท้าทายในอนาคต

ภาคเกษตรไทยกับความท้าทายในอนาคต

เร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้สอนหนังสือวิชาการวางยุทธศาสตร์ผ่านการมองภาพอนาคต (Foresight) ในหลักสูตรผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในหลักสูตรได้ตั้งวงประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อมองอนาคตภาคเกษตรไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า

พวกเราจึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยกันในประเด็นภาคเกษตรไทยในอนาคตที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก และเกิดคำถามว่าภาคเกษตรไทยพร้อมหรือไม่ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

ความท้าทายที่ผมคิดว่าสำคัญต่อภาคเกษตรของไทยในอนาคตมี 4 เรื่อง

ความท้าทายแรกคือ แนวโน้มการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่ ซึ่งกำลังกำหนดการทำฟาร์มในอนาคต หลายประเทศที่เคยไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและทักษะในการทำเกษตรที่ดีในอดีต จึงสามารถปรับเปลี่ยนประเทศให้สามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้นจนเป็นผู้นำภาคเกษตรในอนาคตได้ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ อิสราเอล สิงคโปร์ เป็นต้น

กรณีเนเธอร์แลนด์นั้น เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรชั้นนำของโลก เพราะแม้ประเทศจะมีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าไทยถึง 12 เท่า แต่ก็เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการส่งออก จนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

รองจากสหรัฐ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน รวมถึงเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีเกษตรเรือนกระจกและเกษตรกรรมแนวตั้ง 

ส่วนสิงคโปร์ก็กำลังใช้ยุทธศาสตร์ “30 by 30” โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่เพื่อให้ประเทศพึ่งตนเองในด้านความมั่นคงอาหารในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจึงไม่สามารถชะล่าใจได้ว่าเป็นผู้นำทางการเกษตรหรือครัวของโลก เพราะช่วงเวลานี้ถือว่ากำลังยืนอยู่ที่ทางแยกที่สำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยี เช่น เกษตรกรรมที่แม่นยำ เทคโนโลยีชีวภาพ และการทำฟาร์มดิจิทัลและฟาร์มแนวตั้งอัจฉริยะกำลังพัฒนาไปอย่างมาก

เทคโนโลยีเกษตรกรรมแม่นยำ” ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมของภาคเกษตร เพราะช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับจูนปัจจัยการผลิต เช่น น้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ GPS ภาพถ่ายดาวเทียม และเซนเซอร์ IoT จึงช่วยให้เกษตรกรเข้าใจการทำฟาร์มในระดับจุลภาค ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มผลผลิตพืชผลได้อย่างมาก พร้อมทั้งลดต้นทุนและอนุรักษ์ทรัพยากรที่สำคัญ

การทำฟาร์มยุคใหม่จึงเป็นการทำฟาร์มดิจิทัล ซึ่งบูรณาการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ โดยใช้ซอฟต์แวร์การจัดการฟาร์ม โดรน และเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้ AI เพื่อช่วยเกษตรกรได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของพืช สภาพดิน และรูปแบบสภาพอากาศ 

ภาคเกษตรไทยกับความท้าทายในอนาคต

เหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล ปรับปรุงทั้งปริมาณและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ เทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการแก้ไขยีน CRISPR กำลังปฏิวัติการเกษตรด้วยการพัฒนาพืชที่ทนทานต่อศัตรูพืช โรค และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

ความท้าทายที่ 2 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเกษตร ผลกระทบที่สำคัญประการหนึ่งในประเทศไทยคือ ปริมาณน้ำฝนที่คาดเดาไม่ได้และไม่แน่นอน รวมถึงอุบัติการณ์ของภัยแล้งและน้ำท่วมที่ถี่เพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่ลดผลผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพพืชผลด้วย การลงทุนในกลยุทธ์การเกษตรแบบปรับตัว การกระจายพันธุ์พืชผล สร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน รวมถึงการจัดการน้ำและดินอย่างยั่งยืน และการพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้งจึงสำคัญมาก

ความท้าทายที่ 3 ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าโลก มีการเจรจาข้อตกลงทางการค้าใหม่และการเกิดขึ้นของกลุ่มการค้าระดับภูมิภาค

การปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบและมาตรฐานทางการค้าใหม่ และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเข้าถึงตลาดใหม่และการรักษาตลาดที่มีอยู่

นอกจากนี้ ความต้องการของตลาดก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยผู้บริโภคมากขึ้นที่เน้นความยั่งยืนและการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประเทศไทยต้องสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ โดยยึดมั่นในมาตรฐานที่สูงขึ้นในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม

พลวัตของห่วงโซ่อุปทานก็มีการพัฒนาเช่นกัน โดยได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเผยถึงความเปราะบางในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ให้สามารถทนต่อการหยุดชะงักและตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่ผันผวนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

ความท้าทายที่ 4 พลวัตภาคเกษตรชนบทไทย หนึ่งในความท้าทายที่สุดคือการย้ายถิ่นในชนบทและในเมือง เกิดการขาดแคลนแรงงานและเกษตรกรรุ่นใหม่ ประชากรเกษตรกรสูงวัยมีมากขึ้น คนหนุ่มสาวที่สนใจทำการเกษตรลดน้อยลงมาก จึงทำให้แนวโน้มของภาคเกษตรไทยขาดแคลนคนทำการเกษตร

ในขณะที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสำหรับผู้สูงวัยในแบบเดียวกับญี่ปุ่นยังน้อย จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่าภาคเกษตรไทยจะปรับตัวรองรับกำลังคนที่น้อยลงนี้ได้ อย่างไร

ภาคเกษตรไทยเป็นภาคที่ผู้คนอยู่จำนวนมาก แต่กลับมีสัดส่วนใน GDP อยู่น้อย การอุดหนุนภาคเกษตรด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการพักชำระหนี้เกษตรกร หรือการประกันผลผลิตแบบต่างๆ ยังเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำกันมาหลายยุคสมัย โลกของภาคเกษตรกำลังเปลี่ยนไปมากแล้ว ภาคเกษตรไทยพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้หรือยัง