อนาคตของมนุษยชาติอยู่ในมือใคร? | บวร ปภัสราทร
แน่นอนที่สุดว่าอนาคตมนุษยชาติหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองโลก แต่ถ้าถามว่าเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนอนาคตของมนุษยชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง
คำตอบสำคัญมีสามเรื่อง คือ Applied AI การประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ Bio Revolution การปฏิวัติทางชีวภาพ และ Nanomaterial วัสดุยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับนาโนมิเตอร์ ใครก็ตามที่เป็นผู้นำในสามเรื่องนี้ คนนั้นก็น่าที่จะเป็นคนกำหนดอนาคตของมนุษย์
ถ้าดูกันอย่างจริงจังไปในอนาคตแล้ว วันนี้คงต้องดูให้ครบทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ดูกันตั้งแต่การสร้างนวัตกรรมในเรื่องนี้ว่ามีมากแค่ไหน คิดค้นกันมาได้แล้วนำไปสู่การนำไปสร้างธุรกิจต่างๆ มากแค่ไหน และตามดูกันต่อไปว่านำผลผลิตที่ได้จากบริการที่สืบเนื่องมาจากนวัตกรรมนั้นมาสร้างประโยชน์ในวงกว้างเพียงใด
จึงจะสรุปได้ว่าเรื่องใดใครจะเป็นผู้กำหนดอนาคต รู้แล้วจะได้คบค้าได้ถูกคน เผื่อว่าจะใช้เขาเป็นปั้นจั่น ช่วยยกระดับเราให้ก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด ถ้าคบผิดคนอาจหลงทางไปไกล ถ้ากลับตัวไม่ทันอาจกลายเป็นคนหลงทางด้านเทคโนโลยี พัฒนาไปผิดทิศผิดทาง เสียทั้งเงิน เสียทั้งแรง โดยที่ขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
ในเรื่อง Applied AI การประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลจาก McKinsey Global Institute บอกว่าสหรัฐโดดเด่นอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างนวัตกรรม ดูได้จากการมีสิทธิบัตรในเรื่องนี้เกือบครึ่งหนึ่งของที่มีทั้งหมด ตามมาด้วยเอเชีย ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงจีนเพียงประเทศเดียว และยุโรปที่มีสิทธิบัตรในจำนวนใกล้เคียงกัน แต่รวมกันแล้วก็ยังมีน้อยกว่าสหรัฐ
แต่ที่น่าสนใจคือต้นทางของนวัตกรรมคือ ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ จีนและยุโรปกลับมีมากกว่าสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐและจีนนำนวัตกรรมไปสร้างเป็นธุรกิจได้ประสบความสำเร็จใกล้เคียงกัน ในบรรดาบริษัทเอไอที่ใหญ่ที่สุดในโลก 7 บริษัทนั้น เป็นบริษัทของสหรัฐ 4 บริษัท ที่เหลือเป็นของจีน
ส่วนการใช้งานบริการเอไอในกิจการต่างๆ นั้น ปรากฏว่ากว่า 60% ของกิจการในจีนได้มีการใช้งานแล้ว ในขณะที่สหรัฐมีการใช้งานประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนยุโรปใช้กันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
ดังนั้น ใครอยากเดินหน้าธุรกิจบริการประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์เพื่ออนาคต ทางเลือกวันนี้ไม่น่าจะเป็นยุโรป ถ้าไม่จีนก็ต้องสหรัฐ ถ้าต้องการอนาคตไกลมากหน่อยก็ต้องสหรัฐ แต่ถ้าเน้นลูกค้าวันนี้มากกว่าลูกค้าวันหน้า คำตอบน่าจะเป็นจีน
ถ้าจะไปเล่าเรียนเอาทฤษฎีเป็นหลัก อาจต้องไปยุโรปหรือจีน แต่ถ้าอยากฝึกฝีมือในเรื่องการสร้างนวัตกรรมการประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ต้องไปที่สหรัฐเท่านั้น
บ้านเราเก่งกาจในเรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถ้าถามว่าที่ไหนที่เราควรไปเล่าเรียนเพื่อติดตามการปฏิวัติทางชีวภาพ คำตอบดูจากจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งพบว่ายุโรปตีพิมพ์มากกว่าสหรัฐและจีนรวมกัน แต่กลับมีสิทธิบัตรเรื่องนี้น้อยกว่าสหรัฐ คือมีพอๆ กับจีน ทั้งๆ ที่จีนมีผลงานวิจัยตีพิมพ์น้อยกว่าเกือบเท่าตัว
การนำนวัตกรรมและการวิจัยไปทำเป็นธุรกิจ สหรัฐมีบริษัทเกิดใหม่ที่ทำธุรกิจเรื่องนี้ มากกว่าจีนและยุโรปรวมกันเกือบเท่าตัว สร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในทำนองเดียวกับ อย.ในบ้านเรา มากกว่าจีนและยุโรปรวมกันเกือบสองเท่า
ที่น่าสนใจคือสหรัฐ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยน้อยกว่ายุโรปกว่าเท่าตัว แต่นำความรู้ไปสร้างธุรกิจและผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า ถ้าเน้นการปฏิวัตทางชีวภาพเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจคงต้องเลือกสหรัฐ แต่ถ้าเน้นผลงานตีพิมพ์เป็นสำคัญเหมือนที่นิยมกันอยู่ในบ้านเราในวันนี้ ไปยุโรปน่าจะได้ดั่งใจ
ถ้าสนใจเรื่องวัสดุยุคใหม่ อาจแปลกใจที่พบว่ายุโรปนำความรู้ไปสร้างเป็นธุรกิจได้ดีพอๆ กับสหรัฐ มีสิทธิบัตรจำนวนใกล้เคียงกัน มีกิจการธุรกิจด้านวัสดุนาโนในจำนวนใกล้เคียงกัน ในขณะที่จีนมีสิทธิบัตรเรื่องนี้น้อยกว่าเกือบเท่าตัว แต่พบว่ามีการใช้งานวัสดุนาโนใกล้เคียงกับสหรัฐและยุโรป จะเอาดีด้านวัสดุยุคใหม่ ยุโรปอาจเป็นทางเลือกที่ดี
การรับมืออนาคตทำได้หลายหนทาง แต่หนทางที่ดีที่สุดคือเป็นผู้กำหนดอนาคต ถ้าทำเองตามลำพังไม่ได้ ก็พยายามเลือกร่วมมือให้ถูกคนก็แล้วกัน