NIA เปิดแนวโน้ม ‘เอไอ’ สตาร์ตอัปดาวเด่นปี 67

NIA เปิดแนวโน้ม ‘เอไอ’ สตาร์ตอัปดาวเด่นปี 67

“เอ็นไอเอ” เดินหน้าเร่งเติมเต็มระบบนิเวศ คาดปี 67 เม็ดเงินลงทุนสตาร์ตอัปฟื้นกลับ พร้อมเปิด 5 ธุรกิจสตาร์ตอัปแนวโน้มรุ่ง เผย เอไอ ยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน

Key Points:

  • ปี 2566 ไทยมีสตาร์ตอัปมากกว่า 1,000 ราย และมียูนิคอร์นเกิดขึ้นใหม่ 1 ราย คือ LINE MAN Wongnai ที่มีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 265 ล้านดอลลาร์ โดยปี 2567 คาดว่าจะเกิดยูนิคอร์นสายเอไอเพิ่มขึ้นราว 1-2 ธุรกิจ
  • NIA กำลังร่างพระราชบัญญัติ Regulatory Sandbox สมาร์ตวีซ่า และร่างพระราชบัญญัติสตาร์ตอัป เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ตอัป
  • Global Startup Hub สนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เผย สตาร์ตอัปไทย ปี 2567 กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีโอกาสได้รับการลงทุนทางธุรกิจสูง รวมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 6 พันล้านบาท และยังมี 5 สตาร์ตอัปดาวเด่น ได้แก่ กลุ่มเกษตร-อาหาร-สมุนไพร, สุขภาพ-ยา ซอฟต์พาวเวอร์ เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ และการท่องเที่ยว เป็นแขนงหลักที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ

ภาพรวมการลงทุนในไทย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทยปีนี้มีสตาร์ตอัปจำนวน 2,100 ราย แบ่งเป็นระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะ Go-to market หรือ Growth 1,400 ราย

ในช่วง 3 ปีมานี้ (2564-2566) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลยังคงมาแรง และมีแนวโน้มเติบโต รวมถึงเทรนด์เอไอผู้สร้าง (Generative AI) ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะ โดยคาดว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่าร้อยละ 80 จะนำ Gen AI API และโมเดลต่างๆ มาปรับใช้กับธุรกิจของตนมากขึ้นกว่าเดิม

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติคือ ไทยเป็นประเทศที่มีตลาดใหญ่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการจัดตั้งธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคุ้มค่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี

อีกทั้งยังมีตลาดหลักทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกในเรื่องจุดแข็งของการประเมินมูลค่าและสภาพคล่อง และสตาร์ตอัปมีราคาการลงทุนยังไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 จะมีการนำเอไอมาใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการทางการแพทย์ การใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การสร้างงาน ดังนั้น อุตสาหกรรมที่ใช้เอไอไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีแนวโน้มมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นมากกว่า 6 พันล้านบาท 

ขณะที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากเอไอ โดยในปีนี้ NIA ได้งบด้านการทำวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประมาณ 150 ล้านบาท

NIA เปิดแนวโน้ม ‘เอไอ’ สตาร์ตอัปดาวเด่นปี 67

ระบบนิเวศสตาร์ตอัปที่ผ่านมา

ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีการเสนอนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ตอัป เช่น ร่างพระราชบัญญัติ Regulatory Sandbox สมาร์ตวีซ่า และร่างพระราชบัญญัติสตาร์ตอัป มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ ตอกย้ำให้กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่ดีที่สุดในเอเชียสำหรับสตาร์ตอัป เกิดศูนย์บ่มเพาะใหม่ๆ และผู้มีบทบาทในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและเอกชน 

เช่น สยามอินโนเวชั่นดิสทริค ทรูดิจิทัลพาร์ค ศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบประเทศไทย (TCDC) รวมถึงเกิดยูนิคอร์นขึ้น 2 ราย คือ Flash Express และ Ascend Money และมีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 310.58 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ ปี 2566 ถือเป็นปีที่ระบบนิเวศสตาร์ตอัปไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีสตาร์ตอัปมากกว่า 1,000 ราย และมียูนิคอร์นเกิดขึ้นใหม่ 1 ราย คือ LINE MAN Wongnai ที่มีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 265 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเกิดยูนิคอร์นสายเอไอเพิ่มขึ้นราว 1-2 ธุรกิจ

นอกจากนี้ ระบบนิเวศสตาร์ปอัปไทยยังสามารถคว้าอันดับที่ 52 ของโลกในการจัดอันดับ Global Startup Ecosystem Index โดย Startupblink ซึ่งมี 3 ประเด็นที่โดดเด่น ได้แก่ การเพิ่มจำนวนของ University Holding Company หรือหน่วยธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสถาบันอุดมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสตาร์ตอัปในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกหรือ “DeepTech” ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 65 บริษัท ในระยะเวลา 3 ปี และการที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านความยั่งยืน ถือเป็นโอกาสที่สตาร์ตอัปจะพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

กลไกการสนับสนุนสตาร์ตอัป

NIA มีนโยบายในการกระตุ้นสตาร์ตอัป 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

1. เกษตร-อาหาร-สมุนไพร (Agriculture- Food-Herb) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและมากพอที่จะส่งออกในอนาคต

2. สุขภาพและยา (Health and Medicine) รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างนวัตกรรมมาช่วยดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย 

3. ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยมีวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และดีไซน์ที่โดดเด่น ไม่ต้องลงทุนร้อยล้านพันล้าน แต่เกิดผลกระทบสูงได้

4. เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ตอบสนองต่อสถานการณ์โลกปัจจุบันในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปัจจุบันหากสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งออกไปยังยุโรป ผู้ประกอบการจะติดเงื่อนไขทางการค้า (CBAM) และไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ 

ดังนั้น NIA จึงร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บีคอน เวนเจอร์ กสิกรไทย และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมสินค้าในกลุ่ม Energy Tech, Climate Tech

5. Tourism ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น

“NIA กำลังจับคู่เพื่อให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมองว่านวัตกรรมด้านเกษตรของไทยมีโอกาสอย่างมากที่จะไปเติบโตในตลาดอย่างแอฟริกาใต้ เนื่องจากมีการเพาะปลูกและสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญคือ แอฟริกาใต้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก 

และยังทำความร่วมมือกับญี่ปุ่น ด้านนวัตกรรมสุขภาพและการแพทย์ เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนทางธุรกิจเฮลล์เทคสูง และให้ความสำคัญกับ Age-Friendly City เมืองที่เป็นมิตรแก่ผู้สูงวัย โดยในเดือนพ.ค. 2567 นี้ จะเข้าไปพูดคุยกับทางสถานฑูตเพื่อ MOU กับ 3 เมืองได้แก่ โตเกียว โอซากะ และฟุกุโอะกะ”

NIA ยังมีแนวทางสำคัญ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Financial Support) ที่ครอบคลุมมิติด้านความยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก นวัตกรรมด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง

นอกจากนี้ยังจัดตั้ง Global Startup Hub สนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ