รัฐไทยต้องปรับตัวอย่างไรในยุค AI เปลี่ยนโลก
AI (Artificial Intelligence) หรือมีชื่อไทยว่าปัญญาประดิษฐ์กำลังเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาแรงแซงบล็อคเชนไปแล้วโดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสมญานามในภาษาไทย จึงขอเรียกง่าย ๆ ว่า "ปัญญาประดิษฐ์สรรค์สร้าง"
เมื่อบริษัทโอเพ่น AI เปิดตัว ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2565 ก็ได้รับการตอบรับอย่างมหาศาลมีผู้เข้าใช้งานถึงร้อยล้านคนภายในเดือนมกราคมปีถัดไป
Dr. Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญ AI ซึ่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เชื่อว่า AI จะพลิกผันโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งกว่าการค้นพบกระแสไฟฟ้าที่ได้เปลี่ยนโฉมโลกมาแล้วในศตวรรษที่ผ่านมา (วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย, ม.ป.ป.)
ราชบัณฑิตให้คำจำกัดความปัญญาประดิษฐ์ว่า เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น แบ่งย่อยเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง ระบบผู้เชี่ยวชาญวิทยาการ การรู้จำแบบการรับรู้อย่างมนุษย์ (human perception) ฯลฯ
AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของทุกภาคเศรษฐกิจ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของ AI สามารถใช้ในการแปล การเขียนสุนทรพจน์ การสรุปหรือย่อความ การจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลและสร้างข้อความใหม่โดยอัตโนมัติ รวมทั้งการวิเคราะห์ความหมาย สามารถให้บริการทางกฎหมาย การเขียนข่าวโดยอัตโนมัติ
AI สามารถจดจำเสียง (speech recognition) ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในสมาร์ทโฟนและแชทบอร์ด และการบริการต่าง ๆ ของร้านค้าและธนาคาร การจดจำภาพและการประมวลผล (image recognition and processing) ใช้ในการจดจำใบหน้า เช่น หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ การจดจำลายมือ การสร้างภาพและระบบยานพาหนะอัตโนมัติ
AI สามารถตรวจจับผลกระทบ (affect detection) คือการวิเคราะห์ความรู้สึกในข้อความหรือการแสดงออกทางใบหน้า ใช้ในการวิจัยทางการตลาด บริการลูกค้าและแอปพลิเคชันสุขภาพจิต เพื่อประเมินการตอบสนองทางอารมณ์โดยใช้การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจากการสังเกตข้อมูลใบหน้าของผู้ป่วย และอาจจะสามารถให้ครูตรวจสอบความรู้สึกและความเข้าใจของเด็กในขณะที่สอนหนังสือได้อีกด้วย
AI สามารถช่วยใช้สร้างตัวละครในเกมคอมพิวเตอร์ เป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะหรือตัวแทนอัตโนมัติ (autonomous agents) ที่ทำงานได้อย่างอิสระในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและตัดสินใจได้ตามโปรแกรมและการเรียนรู้ที่สมองกลได้รับฝึกมา
AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์ให้ทำงานซ้ำ ๆ ซึ่งเวลานี้ก็มีใช้อยู่ในโรงงานในประเทศไทยแล้วหรือใช้ทำงานในพื้นที่อันตราย หรือการการใช้โดรนในการทำสงครามแทนมนุษย์
AI ยังสามารถประยุกต์ใช้ไปค้นข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และทำนายจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพยากรณ์หรือคาดการณ์ (data mining for prediction) เช่น ทำนายสภาพอากาศ การคาดการณ์ธุรกิจ การวางแผนเมืองอัจฉริยะ การวินิจฉัยทางการแพทย์ การพยากรณ์ทางการเงิน หรือตรวจจับการฉ้อโกง เป็นต้น
AI ยังสามารถสร้างความสร้างสรรค์เสมือน (artificial creativity) อันเป็นระบบที่สามารถสร้างภาพถ่าย เพลง งานศิลปะ หรือเรื่องราวซึ่งสมัยนี้เรียกว่า “คอนเทนท์” ใหม่ ๆ
ที่จริง AI เปิดตัวเชิงวิชาการมาตั้งแต่ปี 2499 แล้ว แต่ที่มาฮือฮากันในปีที่ผ่านมาก็เพราะการเปิดตัวของ ChatGPT ซึ่งเป็น Generative AI ต่างไปจาก AI แบบเดิมกล่าวคือ AI ในแบบเดิมนั้นผู้ใช้ต้องสั่งการด้วยโค้ดหรือไวยากรณ์ที่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ แต่ Generative AI ผู้ใช้สามารถสั่งการด้วยภาษาธรรมชาติและป้อนข้อมูลเข้าไปได้อย่างหลากหลาย
ผลลัพธ์ที่ได้สามารถสร้างเป็นเนื้อหาต่าง ๆ เช่น เป็นนวนิยาย เป็นกลอน เป็นภาพ เป็นวิดีโอและสามารถนำไปช่วยเขียนโปรแกรมได้ด้วย ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์จึงสามารถแพร่กระจายไปยังผู้ใช้ในหลายสาขาวิชา ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลายอย่างสุดที่จะประมาณได้
การลงทุนใน AI เป็นการลงทุนที่สูงทั้งในด้านจำนวนนักวิทยาศาสตร์ AI เครื่องคอมพิวเตอร์และการใช้พลังงานในการประมวลผล
การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะทำให้ AI มีความสามารถในเรียนรู้ได้มากขึ้น ซึ่งจุดนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเรื่องภาษาเพราะความก้าวหน้าของ AI ภาษาไทยยังไม่ทัดเทียมกับต่างประเทศ ภาษาไทยมีปัญหาเรื่องการตัดคำ (tokenization) เนื่องจากประโยคในภาษาไทยใช้คำต่อเนื่องกันไป ทำให้การประยุกต์ใช้ AI ของไทยล้าหลังกว่าต่างชาติ
ซึ่งก็มีนัยตามมาว่า ในอนาคตคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ก็จะมีความได้เปรียบกว่าคนไทยที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษแม้ว่าจะแก้ปัญหาการตัดคำได้แล้ว เพราะฐานข้อมูล AI ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่ามาก (แม้ว่าในตอนนี้ ความสามารถในการแปลภาษาไทยและอังกฤษกำลังก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว)
ชวนให้คิดว่าลูกหลานในภายหน้าที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติน่าจะได้เปรียบลูกหลานที่เรียนในโรงเรียนไทย ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันขยายออกไปอีก
ในยุคที่ AI เข้ามาเป็นกระแสหลักนั้น รัฐบาลไทยควรมีนโยบายอย่างไร
เรื่องแรกก็คือ ต้องทำให้เกิดดิจิทัลภิวัตน์ถ้วนหน้าคือไม่ใช่แค่แจกแท็บเล็ตในโรงเรียน และที่สำคัญก็คือ ต้องมีคอนเทนท์ที่จะใส่ในแท็บเล็ตด้วย อินเทอร์เน็ตควรฟรีหรือมี Wi-Fi ฟรีให้กับคนอย่างถ้วนหน้าในที่สาธารณะต่าง ๆ ที่คนเข้าถึงได้จะเป็นรากฐานสำคัญและเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ประชาชนไทยต้องมีโอกาสเข้าถึงการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตให้มากที่สุด ดังเช่นการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อจะได้เกิดดิจิทัลภิวัตน์ทั่วหน้า
เรื่องที่ 2 จะต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพและทุกคนสามารถเข้าไปใช้ได้ ปัจจุบันการขอข้อมูลจากรัฐยังเป็นเรื่องยาก แม้ประกาศว่าประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ยุคใช้บิ๊กดาต้า แต่บิ๊กดาต้าที่มีอยู่ในขณะนี้ซึ่งส่วนใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐก็ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปใช้ได้อย่างง่าย ๆ และการขอใช้ข้อมูลยังมีค่าใช้จ่าย
ทั้ง ๆ ที่ดาต้าเหล่านี้ก็เป็นดาต้าที่สร้างขึ้นมาจากภาษีอากรของประชาชน การใช้ดาต้าซ้ำเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าไม่มีต้นทุนเพิ่ม จึงควรให้ใช้อย่างแพร่หลายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนบิ๊กดาต้าในภาคเอกชนนั้น หากบุคคลภายนอกต้องการใช้ก็ต้องซื้อ จึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง
เรื่องที่ 3 ต้องมีระบบธรรมาภิบาล ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ก็จะสร้างปัญหาใหม่ซึ่งจะต้องมีระบบการกำกับใหม่ในด้านจริยธรรม เทคโนโลยี AI เป็นเหรียญสองด้านหรือดาบสองคม ในด้านหนึ่งก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล แต่ก็จะมีผู้อาจจะใช้ AI ไปในทิศทางที่ไม่ชอบ เช่น การสร้าง fake news และการสร้างภาพปลอมต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
AI เป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยทุกคนควรให้ความสนใจถ้าไม่อยากตกขบวนรถไฟหัวกระสุนสายใหม่ที่หลายประเทศไปรออยู่ที่สถานีหน้าแล้ว!