เปิดแผนปฏิบัติการ 5 ปี กิติพงค์ พร้อมวงค์ ขับเคลื่อน สอวช.
มอนิเตอร์ 5 ปีกับ 5 ภารกิจขับเคลื่อน สอวช. ของ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดนโยบาย คิดค้นและริเริ่มโครงการเชิงกลยุทธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เป้าหมายเพื่อนำไทยสู่ประเทศรายได้สูง
KEY
POINTS
- มอนิเตอร์แผนปฏิบัติการ 5 ปีกับ 5 ภารกิจขับเคลื่อน สอวช. ของ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” ซีอีโอคนแรกของ สอวช.
- ทั้ง 5 แผนนี้ แผนพัฒนากำลังคน สำคัญที่สุด โดยดำเนินการขับเคลื่อนผ่าน Higher Education Sandbox
- เสนอไอเดียสร้างจุดขายจากอัตลักษณ์ของเมือง ตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อเมือง
มอนิเตอร์ 5 ปีกับ 5 ภารกิจขับเคลื่อน สอวช. ของ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดนโยบาย คิดค้นและริเริ่มโครงการเชิงกลยุทธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เป้าหมายเพื่อนำไทยสู่ประเทศรายได้สูง
5 ปีกับการเปลี่ยนผ่านจาก “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)” มาเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562
ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)” เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
ภายใต้ภารกิจที่ท้าทาย ซึ่ง สอวช. ต้องดูแลนโยบายครอบคลุมทั้งมิติการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.)
“กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า เมื่อมีกระทรวง อว. และเป็นจุดกำเนิดของ สอวช. เมื่อปี 2562 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญใน 5 เรื่อง คือ
1. สนับสนุนให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในประเทศให้ถึง 2 % ต่อ GDP ในปี 2570
2. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3. การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน.
4. สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
5. การพัฒนากำลังคน
ทั้งนี้ การพัฒนากำลังคน เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป้าหมายทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาจะไม่สามารถดำเนินการได้ ถ้าไม่มีการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สอวช.ผลักดันงบวิจัย 2% ของ GDP ปี 70
สำหรับการดำเนินการทั้ง 5 เป้าหมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กิติพงค์ กล่าวว่า ในเป้าหมายแรกการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 2% ต่อ GDP ในปี 2570 มีผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) อยู่ที่1.21 % ต่อ GDP
โดยมีสัดส่วนมาจากภาคเอกชน 74 % ขณะที่ภาครัฐและอื่นๆ อยู่ที่ 26 % ลดลงจากปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564) ซึ่งอยู่ที่ 1.33 % ต่อ GDP แต่เชื่อว่าจะถึงเป้าหมาย 2% ต่อ GDP ในปี 2570 ได้
เพราะขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง หากรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยต้องใส่สิ่งใหม่ๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจไทย
เช่น เรื่องเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) รถยนต์ไฟฟ้า(EV) รวมถึงอาหารฟังก์ชั่น( Functional Food) ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนและผลักดันอย่างมากจากรัฐบาลในการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา
IDE พันราย พันล้านบาท
ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่มีเป้าหมายหลักในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับประเทศไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง สอวช. ขับเคลื่อนการสร้าง “ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE)” ที่เน้นพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรมสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยตั้งเป้าภายในปี 2570 เพิ่มจํานวน IDE ในระบบเศรษฐกิจให้ได้ 1,000 ราย แต่ละรายสามารถขยายธุรกิจให้เกิดรายได้เฉลี่ย1,000 ล้านบาท ปัจจุบันจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามี IDE ที่ลงทะเบียนในศูนย์บ่มเพาะต่าง ๆ ประมาณ 80 ราย
นอกจากนี้ สอวช. ได้ส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย มีการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวง อว. ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง โดยขณะนี้ในภาคมหาวิทยาลัยที่เริ่มดำเนินการแล้ว ประมาณ 8 มหาวิทยาลัย มีจํานวน Holding Company เกือบ 20 บริษัท
ขณะเดียวกัน ได้มีการนำ ววน.เข้าไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งสำคัญมากเพราะปัจจุบันสัดส่วนการจ้างงานกว่า 60 % มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี 40 % มาจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่สัดส่วนรายได้จากเอสเอ็มอี มีเพียง 40 %
“ปัจจุบันเรื่อง “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” เรายังถูกคาดหวังแค่ตัวเลขการจัดลำดับที่ดีขึ้นในมุมของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่ความสามารถในการแข่งขันจริง ๆ อย่างที่ IMD จัดลำดับ ยังมีองค์ประกอบอีกมาก อย่างเช่น การลงทุน จํานวนนักวิจัย และสิทธิบัตร
โดยเรื่องสิทธิบัตร เรียกว่ายังเป็นปัญหาหรือมีข้อจํากัด โดยสิทธิบัตรของไทยส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรของคนต่างประเทศหรือบริษัทต่างประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัท และส่วนใหญ่จะเป็นสิทธิบัตรการออกแบบ แต่ในประเทศที่เป็นผู้นําทางด้านนวัตกรรมจะเป็นสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากกว่า” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
ปี 70 ลดความเหลื่อมล้ำหนึ่งล้านคน
สำหรับเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ กิติพงค์ กล่าวว่า ใน 5 ปีที่คิดไว้ คือ การทำให้คนฐานรากหนึ่งล้านคนถูกยกสถานะขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีประมาณ 10 % ในแต่ละช่วงชั้น
โดย สอวช. ได้มีกลไกให้ได้กลับมาเรียนใหม่ หรือมีการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น อาจไม่ใช่เฉพาะในระบบมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงการอัพสกิล- รีสกิล ที่ทำให้มีอาชีพที่มีรายได้สูงขึ้น
ที่ผ่านมามีการทำโมเดลทดลองร่วมกับผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาอาชีพเป็นคอร์สเรียนสั้น ๆ ด้านดิจิทัลและการดูแลผู้ป่วย ใช้เวลา 3-6 เดือน เมื่อจบมาสามารถได้งานทำมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 – 25,000 บาท จากเดิมที่อาจจะไม่มีรายได้หรือได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสร้างผู้ประกอบการในชุมชนอีกด้วย
ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญของโลกและถูกจัดตั้งในระดับนานาชาติ ประเทศไทยซึ่งอยู่ใน Value Chain ของการค้าการลงทุนโลก จึงปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ หากผู้ประกอบการไทยไม่ทำด้วยมาตรการทางภาษี จะทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันในเวทีโลก
สอวช. ได้มีการส่งเสริมให้เกิดการจัดทำมาตรฐานในระดับสากล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ
โดยร่วมขับเคลื่อนการสร้างเมืองต้นแบบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) อย่างเช่น สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ จ.สระบุรี และที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงพื้นที่ EEC จ.ระยอง
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งจะมีบทบาทเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรม
การพัฒนาแรงงานทักษะขั้นสูง
และเป้าหมายสุดท้ายคือการพัฒนากำลังคน ซึ่งเคยมีการประเมินแล้วว่า ยังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ
ปัจจุบัน สอวช. ได้มีการสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีระบบสนับสนุนการอัพสกิล- รีสกิล และจัดทำมาตรการส่งเสริม รวมถึงดำเนินการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์อนาคต ซึ่งเป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ Higher Education Sandbox
ซึ่งมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการสามารถออกแบบหลักสูตรร่วมกันได้ 100% นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปี แต่สามารถเรียนจากสถานประกอบการจริง สร้างรายได้ได้ขณะเรียน
พร้อมกันนี้จะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการกำลังคนทักษะสูงในสาขาที่เป็นความต้องการสูงแบบเร่งด่วนของประเทศ และทดลองนำร่องกลไกในรูปแบบ Co-creation ทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา ภาคผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี หากมีการดำเนินการตามแผนต่าง ๆ ของ สอวช. ที่วางไว้ กิติพงค์ บอกถึงภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นว่า หากมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปผลิตสินค้าที่เป็นกลางน้ำที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น มีการใส่ของใหม่เข้าไปและเป็นสิ่งที่ประเทศไทยถนัด ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนารวมถึงพัฒนากำลังคนที่มากพอ
ในระยะกลางและระยะยาว จะทำให้เห็นการขยับของ GDP ได้อีกครั้ง ขณะเดียวกันหากต้องการให้เกิดความยั่งยืนและไปต่อได้ ก็จะมีผู้ประกอบการที่เป็น IDE และเอสเอ็มอี ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าไปเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ส่วนเศรษฐกิจฐานราก หากยกระดับขึ้นมาให้อยู่เหนือเส้นความยากจน คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น คนที่ด้อยโอกาสน้อยลง ปัญหาต่างๆ จะน้อยลงตามไปด้วย สำหรับด้านความยั่งยืนจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังอยู่ใน value chain ของโลกได้ และยังช่วยให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
และสุดท้ายเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด การพลิกโฉมอุดมศึกษาจะเป็นรูปแบบการศึกษาใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคตของเด็ก ๆ และรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ฝากไว้ ...สำหรับการพัฒนาประเทศไทย ผู้อำนวยการ สอวช. เสนอว่า หากต้องการสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ได้แบบ “รวดเร็ว” และไปสู่ประชาชนได้แบบ "ทั่วถึง" สิ่งที่น่าสนใจและเป็นไปได้ คือ ภาคท่องเที่ยว
ชงแนวคิดเมืองท่องเที่ยวรูปแบบ
ที่ปัจจุบันเราใช้ทรัพยากรเดิมๆ เพียงอย่างเดียว แม้จะยังอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดได้ จึงควรพัฒนาเมืองท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ที่จะทำให้คนมาเช็คอิน
ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อเมือง นำร่อง 10 เมือง ที่จะ "ปรับภูมิทัศน์" ทั้งเมืองที่เป็นเอกลักษณ์จากรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นๆ โดยมีภาครัฐ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนและประชาสังคมร่วมกันพัฒนา
“หากรัฐลงทุนเมืองละ 10,000 ล้านบาท เอกชนต้องลงทุนอย่างน้อยอีก 10,000 ล้านบาท จะเกิดการลงทุนทันทีทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านต่าง ๆ
เรื่องนี้ภายในปีเดียวจะทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เกิดการจ้างงาน เงินจะไหลเข้าประเทศ การระดมทุนจะเกิดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะตามมา ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้ ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน”