สาหร่ายทะเล กับขุมทรัพย์เครื่องสำอาง 3 แสนล้าน
เครื่องสำอางหลายยี่ห้อ โฆษณาว่ามีสารสกัดจากสาหร่ายทะเล (sea kelp) ผสมกับวิตามิน แร่ธาตุ และอาหารผิวอื่นๆ ให้กลายเป็นสูตรวิเศษ หรือ “ส่วนผสมอันทรงพลังจากท้องทะเล”
ตลาดเครื่องสำอาง ตลาดที่คนซื้อด้วยความสุข เป็นตลาดใหญ่มโหฬารและโตไม่หยุด คาดว่าในปี 2573 ตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะมีมูลค่าขึ้นไปแตะที่ระดับ 3.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.38 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2%
ส่วนตลาดเครื่องสำอางไทยปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 3.23 แสนล้านบาทในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 5.0%
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งผลิตเพื่อขายในประเทศและรับจ้างผลิตส่งออก
เมื่อเป็นตลาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาล การแข่งขันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงสูงตามไปด้วยตลอดเวลา บวกกับความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพ ทำให้ความนิยมในส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น
บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางต่าง ๆ จึงผลักดัน ส่งเสริม และลงทุนในการศึกษาค้นคว้าและวิจัยหาสารใหม่ๆ จากสิ่งมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้มีการศึกษาหาแหล่งทรัพยากรชีวภาพใหม่ ๆ ที่ยั่งยืน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเครื่องสำอาง
สาหร่ายทะเล จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นทรัพยากรชีวภาพที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ อุดมไปด้วยสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์
และประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย เช่น โพลีฟีนอล และพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพ ต้านมะเร็ง และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
สาหร่ายทะเลและสารสกัดจากสาหร่ายทะเล จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอางมาอย่างยาวนาน ทั้งสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล สีเขียว และสีแดง
สารสกัดจากสาหร่ายทะเล กลายเป็นจุดขายของเครื่องสำอางยี่ห้อชั้นนำที่ขายกันในราคาสูงลิ่ว หลายยี่ห้อโฆษณาว่าเอาสารสกัดจากสาหร่ายทะเล (sea kelp) มาผสมกับวิตามิน แร่ธาตุ และอาหารผิวอื่นๆ ให้กลายเป็นสูตรวิเศษ หรือ “ส่วนผสมอันทรงพลังจากท้องทะเล”
เท่านี้ก็ล้วงเงินในกระเป๋าสาวๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเครื่องสำอางระดับเคาน์เตอร์แบรนด์ที่ปี 2566 มียอดขายเกือบ 5 หมื่นล้านบาท
ผลการวิจัยในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดจากสาหร่ายทะเลมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อผิวพรรณ เพราะมีสารที่ช่วยดึงดูดและกักเก็บน้ำไว้บนผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน และเนียนนุ่ม มีสารแอสตาแซนธิน ที่ได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งสารต้านอนุมูลอิสระ” ที่มีประสิทธิภาพสูง
ช่วยปกป้องผิวจากความเสียหายจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอย ฝ้า กระ และจุดด่างดำ ทำให้ผิวมีสุขภาพดี มีสารที่ช่วยต้านการอักเสบและระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแข็งแรง ทนทานต่อมลภาวะและปัจจัยภายนอก
ทั้งยังมีสารที่ช่วยปรับสมดุลของน้ำมันและน้ำบนผิวให้ไม่แห้งหรือมันจนเกินไป ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ทำให้ผิวแข็งแรงมีสุขภาพดี
ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายเหล่านี้ สารสกัดจากสาหร่ายทะเลได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลากหลายประเภท เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่ม มาส์ก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว สารสกัดจากสาหร่ายทะเล จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการเครื่องสำอางมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุผลนี้ การศึกษาชนิดของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การทดสอบ และการพัฒนากระบวนการสกัดแยกสารสำคัญจากสาหร่ายทะเลจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เป็นอีกหนึ่งความท้าทายหนึ่งของประเทศไทยในการเพิ่มช่องทางความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี และน่าจะเป็นต้นทางของการสร้างซอฟต์พาวเวอร์เครื่องสำอางไทยแข่งขันกับเครื่องสำอางเกาหลี ที่เป็นฟีเวอร์ของสาวๆ และเข้ามาโกยเงินในบ้านเรามาช้านาน
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของสาหร่ายทะเลสูง สามารถเพาะปลูกสาหร่ายทะเลได้ในปริมาณมาก จึงมีแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนในการผลิตสารสกัดจากสาหร่ายทะเล ก
ารส่งเสริมงานวิจัยในการพัฒนากระบวนการสกัดแยกส่วนสำคัญให้ประสิทธิภาพจะช่วยให้ประเทศมีนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการผลิตสารสกัดจากสาหร่ายทะเลเพื่อส่งออกหรือนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่อไป
จะเป็นการดีมากหากรัฐเข้ามาส่งเสริมการวิจัยส่วนผสมของเครื่องสำอาง และการพัฒนาแบรนด์ให้กับผู้ประกอบการเครื่องสำอางบ้านเราซึ่งกว่า 97% เป็นเอสเอ็มอี เพื่อรักษาความเป็นผู้นำฐานการผลิตเครื่องสำอางของอาเซียนและสนับสนุนให้แบรนด์ไทยออกไปประกาศศักยภาพในตลาดเครื่องสำอางโลกที่ยังเติบโตไม่หยุด
ผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องสารสกัดจากสาหร่ายทะเล และการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อความงามและสุขภาพ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02 564 4440 ต่อ 2452