ใช้ GenAI ช่วยกำหนดกลยุทธ์ | บวร ปภัสราทร
ขั้นตอนของการกำหนดกลยุทธ์ใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า องค์กรจะมีการจัดการที่สอดคล้องกับบริบทที่เป็นจริง ข้อมูลที่ใช้ครอบคลุมตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนกระทั่งสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
ทำให้มีบ่อยครั้งที่กำหนดกลยุทธ์กันไป โดยที่วิเคราะห์ข้อมูลไม่ครบถ้วน กลยุทธ์ที่กำหนดเลยไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ วันนี้มีผู้ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ที่ค่อนข้างจะแม่นยำในเรื่องข้อมูล และช่วยงานได้หลายอย่างโดยไม่งอแง แต่เน้นอีกครั้งว่าเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่มาทำหน้าที่กำหนดกลยุทธ์แทนผู้บริหาร
Generative AI (GenAI) ถ้ารู้จักใช้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพในการกำหนดกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นการใช้งานเอไอที่ช่วยสร้างคุณค่าในการบริหารงานได้อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าที่กล่าวขานกันว่าเอไอจะมาทำงานแทนคนในเรื่องนั้นเรื่องนี้เสียอีก
ลองเริ่มต้นด้วยการใช้ GenAI ช่วยสังเคราะห์ SWOT ดูจะรู้ทันทีว่าเรามีข้อมูลทั้งภายในและภายนอกครบถ้วนมากน้อยเพียงใด เพราะคำตอบที่ได้จากเอไอจะชี้ชัดว่ายังขาดข้อมูลในเรื่องใดบ้าง
ดังนั้น แทนที่จะเสียเวลาไปกับการถกเถียงกันว่าใช่จุดเด่นจุดอ่อนจริงหรือไม่ ให้เอไอช่วยสังเคราะห์ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่าจะตัดจะเติมตรงไหน เปลี่ยนจากการไปว่าจ้างที่ปรึกษามาช่วยทำ SWOT ไปเป็นการรวบรวมข้อมูลให้เอไอช่วยสังเคราะห์เบื้องต้นให้ก่อนดีกว่า ดีไม่ดีอาจจะเสร็จงานได้เร็วกว่า และประหยัดเงินทองค่าจ้างที่ปรึกษาลงไปได้แน่ๆ
ที่นิยมกระทำกันมากขึ้นในยามที่รอบตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบันนี้ คือการกำหนดฉากทัศน์ที่พอจะเป็นไปได้ต่างๆ ขึ้นมา เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดกลยุทธ์
งานนี้ GenAI ถนัดมาก เพราะเหมือนกับคนที่อ่านหนังสือมาเยอะมาก ย่อมพยากรณ์สิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคตได้หลากหลายมากกว่าคนที่อ่านหนังสือมาน้อย
ถ้าตกลง SWOT กันได้แล้ว ลองให้เอไอสังเคราะห์ฉากทัศน์ต่างๆ มาให้พิจารณาว่า เส้นชัยหรือวิสัยทัศน์ของเราควรจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางฉากทัศน์ต่างๆ ที่เอไอช่วยยกร่างขึ้นมาให้
ถ้าอยากได้ข้อความวิสัยทัศน์ที่ดูดี ก็ลองให้ GenAI ช่วยปรับแต่งให้ได้อีกด้วย ยิ่งถ้าเป็นภาษาอังกฤษ GenAI ช่วยได้ดีกว่าที่คาดหวังไว้เยอะมาก
ได้วิสัยทัศน์ที่พอใจมาแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่ต้องกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ถ้าคิดไม่ออก แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการ prompt วิสัยทัศน์ พร้อมกับขอให้สังเคราะห์ตัวอย่างวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์มาให้ดูกันว่าใช้ได้หรือไม่ อย่ารีบร้อนตกลงกันไปตามที่เอไอบอกมา
ถ้าอยากมีนวัตกรรมใหม่ๆ บ้าง แต่นึกไม่ออก เรามักใช้เครื่องมือช่วยคิดต่างๆ มาช่วยทุ่นแรง เช่น scamper บ้าง design tinking บ้าง ซึ่งทำความเข้าใจกับเครื่องมือก็ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ที่แย่กว่าคือเวลาที่คิดหาคำตอบตามประเด็นที่เครื่องมือกำหนดนั้นยาวนานและเหน็ดเหนื่อยสมองกว่ามาก
แนะนำว่ายกงานนี้ให้เอไอไปช่วยยกร่างทางเลือก scamper หรือ design thinking แล้วคนค่อยมากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่า ถูกชัวร์ หรือมั่วมากันแน่ แต่อย่างน้อยจะได้ไอเดียที่อาจกลายเป็นนวัตกรรมที่เคยมองข้ามไปก็ได้
เมื่อกำหนดกลยุทธ์และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์กันได้แล้ว เอไอช่วยปรับแต่งถ้อยคำให้ดูเข้าที่เข้าทาง ดูเป็นมืออาชีพได้เป็นอย่างดี แถมด้วยการช่วยแแนะนำตัวชี้วัดความสำเร็จของวัตถุประสงค์แต่ละเรื่องได้อีกด้วย
ขั้นตอนเหล่านี้มักถูกละเลย หากไม่ใช่คนเก่ง คนมีประสบการณ์ในการกำหนดกลยุทธ์ เพราะใช้เวลาและแรงสมองมากมายจนทนทำกันไม่ไหว
เลยกลายเป็นกลยุทธ์ที่วัดความสำเร็จด้วยการ “ได้ทำ มากกว่า ได้ผล” ทำอะไรไปก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์แล้ว ลองใช้ GenAI มาช่วยในขั้นตอนนี้ เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดที่มีประสิทธิผลในการติดตามความสำเร็จของกลยุทธ์ โดยไม่เหน็ดเหนื่อยและเสียเวลามากเกินไป
ท่านใดที่จะใช้ GenAI ช่วยในกระบวนการกำหนดกลยุทธ์ ท่านต้องรู้ดีในเรื่องการกำหนดกลยุทธ์เป็นเบื้องต้น ไม่ใช้เอไอท่านก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะใช้เวลาและแรงงานมากหน่อย อย่าหวังว่าคนที่ไม่รู้เรื่องการกำหนดกลยุทธ์ จะทำได้โดยมี GenAI เป็นโค้ช
ขีดความสามารถไม่ถึง เอไอช่วยไม่ได้ เอไอช่วยได้แค่ทุ่นแรง เติมเต็มความรอบคอบ และเสริมสร้างให้ดูดีขึ้นเท่านั้น
Generative AI ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน ยี่ห้อไหนก็ตาม ถ้าส่งข้อมูลรอบตัวที่ลำเอียงไปทางไหน เอไอก็ลำเอียงไปทางนั้นด้วยเสมอ คุณภาพของข้อมูลจึงสำคัญยิ่ง
เอไอทำให้คนไร้ฝีมือตกงาน ในขณะที่ทำให้คนมีฝีมือมีผลิตภาพเพิ่มทวีคูณขึ้นเสมอ.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]