"มหินทรา"แทรกเตอร์ไฮเทค เปิดตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

"มหินทรา"แทรกเตอร์ไฮเทค เปิดตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

มหินทรากรุ๊ป ยักษ์ใหญ่สัญชาติอินเดีย ส่งรถแทรกเตอร์ซีรีส์ Mahindra OJA นำร่องเปิดตลาดในประเทศไทย มาพร้อมคุณสมบัติความเป็นอัจฉริยะ ฟังก์ชันควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ตแอปและการออกแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรของไทย ตั้งแต่สวนทุเรียน ไร่มันฯ สวนองุ่นจนถึงนาข้าว

KEY

POINTS

  • เปิดตัวการออกแบบทางวิศวกรรมใหม่ล่าสุด แทรกเตอร์ OJA แทรกเตอร์น้ำหนักเบาขับเคลื่อน 4 ล้อรุ่นแรก ที่พัฒนาขึ้นโดยร่วมมือกับแทรกเตอร์มิตซูบิชิ บริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น
  • ด้วยเทคโนโลยี OJA Mahindra พร้อมรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยเริ่มที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก 
  • แผนการตลาดจะมุ่งสร้างการรับรู้ผ่านรูปแบบการตลาดดิจิทัล และเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ทดลองใช้งานรถ

 

 

Mahindra OJA ชื่อนี้มาจากคำสันสกฤต Ojas ซึ่งแปลว่า “พลังงาน” โดยต้องการสื่อถึงพลังการปฏิวัติรถแทรกเตอร์แบบเดิมๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างทีมวิศวกรของ Mahindra Research Valley ประเทศอินเดีย ศูนย์ R&D ของ Mahindra AFS และ Mitsubishi ประเทศญี่ปุ่น ด้วยงบลงทุน 145 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5,075 ล้านบาท

ทีมวิศวกรออกแบบมหินทรา OJA โดยคำนึงถึงความต้องการใช้งานที่หลากหลายของทั้งเกษตรกรสมัยใหม่ ผู้ที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริมตลอดจนเกษตรกรมืออาชีพ โดยเสริมเทคโนโลยี 3 แพลตฟอร์มให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ประกอบด้วย PROJA, MYOJA และ ROBOJA

PROJA (The Productivity Pack) ชุดเพิ่มผลผลิต ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ใช้งานเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและเพิ่มผลตอบแทนสูงสุด มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้แรงงานคนและลดความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเกษตรกรไทยถือครองพื้นที่เพาะปลูก 2-10 ไร่ต่อครัวเรือน

\"มหินทรา\"แทรกเตอร์ไฮเทค เปิดตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

ฟีเจอร์เด่นของ PROJA ประกอบด้วย 1. โหมดคลาน (Creeper Mode) ช่วยให้รถแทรกเตอร์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำมาก เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียด เช่น การไถพรวนดิน การปลูกพืช 2. เกียร์เดินหน้า-ถอยหลัง (F/R Shuttle) ไม่ต้องใช้คลัตช์ ช่วยให้ควบคุมรถได้คล่องตัวขึ้น

3. พวงมาลัยปรับระดับและยืดหดได้ (Tilt & Telescopic Steering) ตามสรีระของผู้ขับขี่ ช่วยลดอาการเมื่อยล้า 4. เพลาขับเคลื่อนอิสระแบบไฟฟ้า ทำงานเงียบ และไม่ต้องบำรุงรักษามาก

MYOJA (Telematics Pack) ชุดติดตามข้อมูลระยะไกล ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมรถแทรกเตอร์ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะรายงานข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ อัตราการใช้เชื้อเพลิงและสภาพของรถแทรกเตอร์ได้อย่างเรียลไทม์

ฟังก์ชันนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถวางแผนการบำรุงรักษา ติดตามตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์และการทำงานของรถแทรกเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีฟีเจอร์ที่สำคัญ เช่น ระบบ GPS ติดตามตำแหน่งรถ การแจ้งเตือนที่สำคัญต่างๆ การติดตามการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สัมพันธ์กับพื้นที่ที่ใช้งานได้ รวมถึงการคำนวณระยะทางและพื้นที่เพาะปลูก

ROBOJA (the Automation Pack) ชุดระบบอัตโนมัติ ช่วยลดการใช้แรงงานคนจำนวนมากในการควบคุมรถแทรกเตอร์ โดยฟีเจอร์ที่สำคัญในระบบนี้ เช่น ระบบควบคุมเพลา (Auto PTO) ที่สามารถเปิดหรือปิดเองโดยอัตโนมัติขณะเลี้ยวและถอยหลัง,

ระบบยกเครื่องมืออัตโนมัติและระบบเบรกด้านเดียวอัตโนมัติ (Auto One-Side Breaking) ช่วยให้รถเข้าโค้งได้อย่างคล่องตัว ปลอดภัย และลดรอยสึกของยาง

\"มหินทรา\"แทรกเตอร์ไฮเทค เปิดตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

เคดะห์ อปาที ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการต่างประเทศ กลุ่มมหินทราแทรกเตอร์  ส่วนธุรกิจอุปกรณ์ฟาร์ม บริษัท มหินทรา & มหินทรา จำกัด  กล่าวว่า แทรกเตอร์  OJA  รุ่นปฏิวัติวงการเกษตรกรรม มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการเกษตร เพิ่มผลผลิตสูงสุด และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ช่วยให้เกษตรกรทั่วโลกสามารถบริหารการลงทุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อผลตอบแทนที่ดีที่สุด 

และด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่แตกต่างนี้ส่งผลให้มหินทราประสบความสำเร็จในการเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ OJA ในอินเดียและสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตัวแทนจำหน่ายและเกษตรกรในตลาดใหญ่ทั้งสองแห่ง 

ปัจจุบัน มหินทราได้เริ่มบุกเบิกตลาดอาเซียนโดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย และในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม OJA ในบราซิล ออสเตรเลีย และภูมิภาค SAARC (สมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค) รวมถึงการบุกเบิกตลาดยุโรปตะวันตกเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

การเปิดตลาดในไทยเป็นสิ่งที่ “มหินทรา กรุ๊ป” ตั้งใจมานานแล้ว โดยมองว่าไทยเป็นตลาดที่สำคัญมากในอาเซียน เพราะทั้งอาเซียนใช้รถแทรกเตอร์รวม 80,000 คัน ในจำนวนนี้อยู่ในไทย 50,000 คัน ไม่ใช่ตลาดเล็กๆเลย เกือบจะเท่ากับบราซิล

ดังนั้น เมื่อมหินทราอยู่ในตลาดบราซิลอยู่แล้ว และที่นั่นมีโจทย์ที่ยากและใหญ่กว่า จึงมองว่าไทยเป็นตลาดที่สำคัญมากที่ต้องเข้ามา ถ้าได้เริ่มวางฐานทางการตลาดที่มั่นคงในไทย แล้วจะรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนต่อไป

\"มหินทรา\"แทรกเตอร์ไฮเทค เปิดตลาดไทยนำทางเข้าอาเซียน

มหินทราสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย มีการออกแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุน และจากการที่มหินทราเป็นบริษัทรถแทรกเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยปริมาณ

ดังนั้น เมื่อซื้อของจากซัพพลายเออร์ จึงได้ราคาที่ถูกกว่า และแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นสามารถสร้างโมเดลกี่รุ่นก็ได้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน จึงมั่นใจมากว่าสามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ของเราให้การแข่งขันได้

ในระยะแรกนี้ บริษัทเน้นเปิดตัวในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสาน ทั้งการเสาะหาผู้แทนจำหน่ายประมาณ 10 รายและสร้างการรับรู้ผ่านรูปแบบการตลาดดิจิทัล ตลอดจนการคัดเลือกตัวแทนเกษตรกรให้ทดลองใช้งานรถแทรกเตอร์มหินทรา OJA ที่จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับในผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะขยายสู่ลูกค้าเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป

“หากเริ่มต้นด้วย การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง มีตัวแทนจำหน่ายที่ดี พร้อมเติบโตคู่ไปกับมหินทรา และสินค้าที่นำเสนอสู่ตลาดจะสามารถสร้างความพึงพอใจ ให้กับลูกค้าเกษตรกรไทยได้” เคดะห์ อปาที กล่าว

เกี่ยวกับ มหินทรา
     “มหินทรา กรุ๊ป” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2488 และเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดและได้รับ
การยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีพนักงาน 260,000 คนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เป็นผู้นำในด้านอุปกรณ์ฟาร์ม รถอเนกประสงค์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงินในประเทศอินเดีย

และเป็นผู้ผลิตรถแทรกเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านปริมาณการผลิต มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั้งในด้านพลังงานหมุนเวียน เกษตรกรรม โลจิสติกส์ การบริการ และอสังหาริมทรัพย์

มหินทรา กรุ๊ปมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นผู้นำด้าน ESG ของโลก ช่วยส่งต่อความเจริญไปยังชนบทและยกระดับคุณภาพชีวิตในเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน