ฟาร์มอัจฉริยะ ทางออกวิกฤติฟาร์มโคนมไทย | คงพัฒน์ ประสารทอง
นวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นทางเลือกที่แพร่หลายในต่างประเทศมาแล้วกว่า 20 ปี และเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ท้าทายว่าเกษตรกรอาชีพเลี้ยงโคนมของไทย จะอยู่รอดได้อย่างไร ท่ามกลางวิกฤติทั้งโรคระบาดและต้นทุนวัตถุดิบที่ขยับขึ้นเรื่อยๆ
หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดลัมปีสกินในปี 2564 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้โคป่วยหรือล้มตาย อุปมาว่าเป็นโควิดในโคก็ย่อมได้
ทั้งยังต้องประสบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2565 รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2566
ท่ามกลางวิกฤตินี้จึงเกิดคำถามที่ท้าทายว่าเกษตรกรอาชีพเลี้ยงโคนมจะอยู่รอดได้อย่างไร
การเลี้ยงโคนมให้ได้ผลผลิตที่ดีประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สายพันธุ์โค วัตถุดิบอาหารโค เวชภัณฑ์ และการบริหารจัดการฟาร์ม
ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมในทวีปยุโรปและอเมริกา มีปริมาณน้ำนมโคเฉลี่ยในระดับ 40 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศไทยกว่า 3 เท่า
สาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงและการบริหารจัดการ จากผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมในประเทศไทยกว่า 15,000 รายทั่วประเทศ มีน้อยกว่า 300 รายที่มีจำนวนโค 200 ตัวขึ้นไป ขณะที่อีกกว่า 10,000 รายมีจำนวนโคในฝูงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ตัว
ซึ่งจะตรงข้ามกับในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่ฟาร์มส่วนใหญ่จะมีขนาดฝูงตั้งแต่ 200 ตัวขึ้นไป โครงสร้างฝูงโคโดยสังเขปประกอบไปด้วยโค 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ แม่โค (อายุเกิน 2 ปี) โคสาว (อายุ 1-2 ปี) และลูกโค (อายุไม่เกิน 1 ปี) โดยกลุ่มโคที่ถูกรีดนมจะอยู่ในกลุ่มแม่โค
ข้อดีของอาชีพการเลี้ยงโคนมคือการมีรายได้ทุกวัน เกษตรกรรีดนมรอบแรกช่วงเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและอีกรอบในช่วงบ่ายก่อนพระอาทิตย์ตก โดยจะนำผลผลิตน้ำนมที่ได้ไปส่งยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทันทีหลังการรีดในแต่ละรอบ
อย่างไรก็ตามอาชีพนี้มีความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกสูงทั้งโรคระบาด วัตถุดิบอาหารสัตว์ และแรงงาน ในขณะที่การบริหารจัดการเป็นตัวแปรที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้ ตั้งแต่การจัดการด้านโรงเรือน ด้านการเลี้ยงโคในแต่ละช่วงวัย ด้านการรีดนม และด้านการจัดการทั่วไป
หนึ่งในทางเลือกเพื่อพัฒนาด้านการจัดการคือ การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทางเลือกที่แพร่หลายในต่างประเทศมาแล้วกว่า 20 ปี
เช่น การใช้เครื่องผสมวัตถุดิบ การใช้ระบบรีดนมอัตโนมัติ และการใช้ระบบติดตามพฤติกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น
สำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประเทศไทย ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เลี้ยงที่มีขนาดฝูงตั้งแต่ 200 ตัวขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยต้องอาศัยผลผลิตที่สูงจึงจะคุ้มค่าในการลงทุน
แต่ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับฟาร์มโคนมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกที่หลากหลายในต้นทุนที่ต่ำลง
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ คุณสุธน พลายพูล วัย 62 ปี เจ้าของคำใหม่ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นใช้งานระบบติดตามพฤติกรรม “สร้อยคออัจฉริยะสำหรับโค” ในฝูงแม่โคจำนวน 50 ตัว
สร้อยคออัจฉริยะนี้จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมผ่านการขยับคอของโค แล้วแปรผลว่าโคกำลังทำพฤติกรรมใดระหว่างกิน เคี้ยวเอื้อง หรือเคลื่อนไหว จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ แล้วแจ้งเตือนผ่านมือถือ
ทำให้เกษตรกรสามารถรักษาโคได้ทันท่วงทีเมื่อได้รับการแจ้งเตือนว่าโคมีสุขภาพไม่ปกติ และสามารถผสมเทียมได้ในช่วงที่ดีที่สุดเมื่อได้รับการแจ้งเตือนว่าโคเป็นสัด ซึ่งระบบจะประมวลผลจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมร่วมกับข้อมูลประจำตัวโค
หลังการใช้งานผ่านไป 1 ปี คุณสุธนพบว่า วันท้องว่างเฉลี่ยของโคในฟาร์มลดลงเหลือไม่เกิน 150 วัน จากที่เคยอยู่ในระดับที่สูงกว่า 200 วันมาโดยตลอด และลดการล้มตายของโคจากการรักษาไม่ทัน ทำให้คืนทุนได้ภายใน 1 ปี
เนื่องจากระบบติดตามพฤติกรรมโคตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถจัดการด้านการเลี้ยงโคได้อย่างแม่นยำและทั่วถึงกว่าการให้คนงานเฝ้าสังเกต และสามารถให้คนงานมุ่งไปจัดการงานด้านอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า ปัจจุบันคำใหม่ฟาร์มได้มีการขยายผลใช้ในฝูงแม่โคทั้งหมด 80 ตัว
นอกจากการแจ้งเตือน การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things - IoT) มาใช้ในฟาร์ม ทำให้ฟาร์มใส่ใจเรื่องการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารฟาร์มมากขึ้น
จากยุคแรกที่ใช้วิธีจดข้อมูลใส่สมุดกระดาษเพื่อบันทึกประวัติและกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับโคแต่ละตัว เช่น วันเกิด การให้วัคซีน ฯลฯ ถัดมาได้เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูล
ตอนนี้บันทึกข้อมูลบนระบบติดตามพฤติกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะถูกประมวลผลร่วมกับระบบแจ้งเตือน สร้างรายงานด้านประสิทธิภาพของฟาร์ม นำมาใช้สำหรับจัดการในเชิงรุก ลดความเสี่ยงและเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี
หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในฟาร์ม เพื่อก้าวไปสู่ฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm) คือการที่ผู้ประกอบการต้องให้โอกาสตัวเองได้เริ่มต้นเรียนรู้ ผลสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน
นอกเหนือจากอาชีพการเลี้ยงโคนมตามตัวอย่างนี้แล้ว การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีนับเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรทุกแขนง ที่ต้องการได้ข้อมูลมาพัฒนาการจัดการได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที สามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ มั่นคง เพื่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน.