มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พบกับนวัตกรรมล้ำสมัยกว่า 1,000 ผลงาน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) แถลงข่าวชวนร่วมงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งที่ 19 สานพลังวิจัยขับเคลื่อนไทย พบกับนวัตกรรมล้ำสมัยกว่า 1,000 ผลงาน 26-30 สิงหาคมนี้
“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด "สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน" ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 เป็นวาระสำคัญในการร่วมกันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบและร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย"
กระทรวง อว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น.
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและการประชุมมากกว่า 130 หัวข้อเรื่อง และยังมีนิทรรศการอีกมากกว่า 700 ผลงาน นำเสนอในประเด็นที่กระทรวง อว. และรัฐบาลให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายในงานจึงมีกิจกรรมส่งเสริมน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาในทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรรมและประกวดแข่งขัน โดยจะมีการเฟ้นหาวิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น อีกด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นงานประจำปีของเครือข่ายระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และที่สำคัญคือเป็นเวทีเพื่อนักวิจัยที่ได้นำเอาผลจากการวิจัยที่เกิดขึ้นมาแสดงออกสู่สายตาประชาชน ทำให้เกิดการประจักษ์รู้โดยทั่วไป
การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นจะต้องเกิดประโยชน์กับประเทศ งานวิจัยมีหลายประเภททั้งสามารถใช้ประโยชน์โดยทันที งานวิจัยที่ต้องมีการปรับปรุงปรับแต่งเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องมีการวิจัยในแง่ของพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการสร้างสังคม อันนำไปสู่การสร้างความรู้และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ
เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม
รูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ SMEs กว่า 1,000 ผลงาน
ภายในงานทุกท่านจะได้พบกับการปาฐกถาพิเศษจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รักษาการ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในหัวข้อ "ขับเคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์" ที่จะมาเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ทั้งยังมีงานสัมมนาสุดเข้มข้นกว่า 150 หัวข้อครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ Soft Power ที่จะสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ไปจนถึง CEO Forum ที่จะร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ส่วนภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
รวมถึงนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย
แสงซินโครตรอนยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งส่งออก
ทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ จีน และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นวิธีถนอมอาหารใช้อุณหภูมิ -40 ถึง -60 องศาเซลเซียส ผ่านแก๊สของเหลวอย่างไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในการแช่แข็งภายในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้น้ำภายในผลไม้เปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดเล็ก (เพราะถ้าความเย็นไม่ต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียส จะทำให้เนื้อทุเรียนและน้ำแยกออกจากกันทำให้เนื้อทุเรียนไม่อร่อย)
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดย ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง หัวหน้าส่วนวิจัยด้านอาหารและการเกษตร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็ง
โดยได้พัฒนากระบวนการแช่เยือกแข็ง (Cryogenic freezing) ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ (cryoprotectant) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสด ที่ช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการเอาได้ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกทุเรียนด้วยแสงซินโครตรอน
ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆ ข้างต้นพบว่า คุณภาพทางกายภาพและโครงสร้างทางเคมีของทุเรียนแช่เยือกแข็งมีความใกล้เคียงกับทุเรียนสดใหม่ และเมื่อทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory test) จากผู้ทดสอบชิมจำนวน 50 คน แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกแข็งที่อายุการเก็บรักษานาน 6 เดือน ไม่แตกต่างจากทุเรียนสดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก สู่การมุ่งเน้นตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่
วว.โชว์ไม้ดอกไม้ประดับกินได้
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้แทน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมเป็นเกียรติและนำผลงานโครงการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค โดยมี ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เข้าร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติที่โซนไฮไลต์ผลงานเด่นประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมด้วย
การดำเนินงานก่อให้เกิด Impact จากผลงานวิจัย ได้แก่
1) ข้อมูลคุณประโยชน์ของพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ สำหรับปรับใช้ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
2) สร้างความยั่งยืนของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
3) ตอบสนองนโยบายระดับโลก ในการบริโภคอาหารแบบยั่งยืน (SFS)
4) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดรายได้ในชุมชน
5) Food Waste ลดการสูญเสียอาหาร/ขยะอาหารที่เพิ่มขึ้น
6) สร้าง Soft Power เชื่อมโยงธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม การท่องเที่ยว
นอกจากนี้ วว. ยังจะนำผลงาน “นวัตกรรม วว. ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ” เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้วย ได้แก่
1) การใช้ประโยชน์จาก CO2 เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในภาคอุตสาหกรรม
2) เทคโนโลยีการดักจับและใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแปรรูปเป็นไบโอเมทานอล
3) ฐานข้อมูลมวลชีวภาพการกักเก็บคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศป่าไม้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลของโลก ณ บูธ AL 9 ที่โซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://researchexporegistration.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518