นวัตกรรมเพื่อสังคม สร้างสังคมที่ยั่งยืน | สุเปญญา จิตตพันธ์

นวัตกรรมเพื่อสังคม สร้างสังคมที่ยั่งยืน | สุเปญญา จิตตพันธ์

นวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิด กระบวนการทำงาน และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมและชุมชน

การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผ่านโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคกลาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย  ดร.กนกวรา พวงประยงค์ หัวหน้าหน่วย และ ดร.สานิตย์ หนูนิล รองหัวหน้าหน่วย รวมทั้งทีมงานจากวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อทำการคัดเลือก ส่งเสริม และเป็นที่ปรึกษาให้แก่วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และนิติบุคคล ในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นคือ "เครื่องเป่าดอกทุเรียน" ที่พัฒนาขึ้นโดยวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี นวัตกรรมนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุของเกษตรกรที่ต้องขึ้นไปใช้แปรงปัดเกสรดอกทุเรียนในตอนกลางคืน

การใช้เครื่องเป่านี้ไม่เพียงทำให้เกษตรกรไม่ต้องปีนต้นทุเรียน ซึ่งลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดค่าใช้จ่ายจากการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “เจลลี่ฝางผสมสมุนไพร” ที่พัฒนาโดยวิสาหกิจเพื่อสังคมสวนบ้านแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำฝางซึ่งเป็นพืชสมุนไพร ที่มีสรรพคุณทางยาและรักษาสุขภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

ต้นเหตุมาจากการที่มีช้างป่าออกมาหากินในชุมชน ทำให้สวนผลไม้ถูกทำลาย จึงคิดค้นวิธีการปลูกฝางแซมระหว่างพืชหลัก เนื่องจากช้างไม่ชอบต้นฝางที่มีหนาม จึงช่วยลดการสูญเสียพืชสวนและได้ฝางเป็นวัตถุดิบของชุมชนในการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนและเกิดความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง

 “ไอศกรีมปูม้า” อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ พัฒนาโดยวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ปูม้าที่จับได้ในพื้นที่มักมีบางส่วนที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ก้ามหรือขาหลุด ซึ่งปกติจะถูกทิ้ง แต่โครงการนี้ได้นำส่วนเหล่านี้มาทำเป็นไอศกรีมปูม้า ซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเกาะสีชัง

ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการประมง แต่ยังเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกชุมชนถึง6,000 บาทต่อคนต่อเดือนทีเดียว

“แกงหัวตาล ของดีอินทประมูล” พัฒนาโดยวิสาหกิจชุมชนแสงจันทร์ภร จังหวัดอ่างทอง เป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ต้นตาล ซึ่งเป็นพืชที่รอดจากน้ำท่วมประจำปีในพื้นที่ ชุมชนได้พัฒนาแกงหัวตาลให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ 2,000 บาทต่อคนต่อ 1 รอบการผลิต โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และยังช่วยลดการละทิ้งถิ่นฐานของคนในชุมชนอีกด้วย

“ผลิตภัณฑ์จากปูนเปลือกหอยนางรม” พัฒนาโดยวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม จังหวัดตราด เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำทรัพยากรที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ ชุมชนได้นำเปลือกหอยนางรมมาโม่เป็นผงและผสมกับปูนซีเมนต์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น ที่ทับกระดาษ กระถางต้นไม้ และก้อนอิฐสำหรับปูถนน

นอกจากจะลดขยะแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น 2,000 บาทต่อเดือน และยังกระจายรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการอีกด้วย

นวัตกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาท้องถิ่น ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ส่งเสริมคนในชุมชนให้ปรับตัวและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ทั้งด้านการผลิต การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ด้วยสมาชิกในชุมชนเอง

อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม เช่น กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมองค์กรที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้อง และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน

ในภาคธุรกิจ การตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม

ในภาคประชาสังคม การสร้างเครือข่ายของประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน และการสร้างโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อทางสังคม

นวัตกรรมเพื่อสังคมนับเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม

การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการเปิดใจรับฟังและเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการถามตัวเองว่า เราจะมีส่วนร่วมในการสร้างหรือส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างไร และเราจะเริ่มต้นได้จากตรงไหน เพราะอนาคตที่ยั่งยืนไม่ได้เกิดจากแค่ความคิดริเริ่มของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดจากการลงมือทำและการร่วมมือกันของทุกคนในสังคม.