ทำไม ‘สนธิสัญญาความมั่นคง' จีน - หมู่เกาะโซโลมอน สร้างเซอร์ไพรส์ 'สหรัฐ'

ทำไม ‘สนธิสัญญาความมั่นคง' จีน - หมู่เกาะโซโลมอน สร้างเซอร์ไพรส์ 'สหรัฐ'

“นายกรัฐมนตรีหมู่เกาะโซโลมอน” ออกโรงปกป้องสนธิสัญญาด้านความมั่นคงที่เพิ่งลงนามไปกับจีนเมื่อเร็วนี้ๆ ท่ามกลางความกังวลจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ออสเตรเลีย ไปจนถึงสหรัฐ

นายมานาสเซห์ โซกาวาเร นายกรัฐมนตรีหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวต่อรัฐสภาว่า ข้อตกลงที่มีต่อรัฐบาลปักกิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็น ในการจัดการกับ “สถานการณ์ความมั่นคงภายใน” ของหมู่เกาะโซโลมอน 

หมู่เกาะโซโลมอนต่อสู้กับความไม่สงบทางการเมืองมาช้านาน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีเหตุการณ์ผู้ประท้วงรวมกลุ่มกันที่ไชน่าทาวน์ ในเมืองโฮนีอารา หลังจากนั้นเดินเท้าและพยายามบุกเข้าไปในบ้านพักของนายโซกาวาเร

ก่อนหน้านี้  มีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกหลายครั้ง และยังเกิดรัฐประหารเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 ทำให้ออสเตรเลียส่งเจ้าหน้าที่ช่วยรักษาเสถียรภาพบ้านเมือง ตามคำร้องขอรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน 

สนธิสัญญาฯ หายนะ “ออสเตรเลีย - สหรัฐ” 

รัฐบาลแคนเบอร์ราส่งสัญญาณเตือนสนธิสัญญาความมั่นคงดังกล่าว หลังจากร่างเอกสารฯได้หลุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐแสดงความกังวลว่า เรื่องนี้อาจส่งผลให้ “จีนตั้งฐานทัพ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก

มาร์ค แฮร์ริสัน อาจารย์อาวุโสด้านจีนศึกษาของมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย บอกกับอัลจาซีราว่า ข้อตกลงนี้ถือเป็น “หายนะ” สำหรับออสเตรเลีย และสหรัฐ เพราะมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับรัฐบาลปักกิ่งมานานแล้ว

“เรื่องนี้ท้าทายออสเตรเลีย ว่าจะประเมินอนาคตในภูมิภาคต่อไปอย่างไร เพราะจีนกำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น” แฮร์ริสัน กล่าว 

หมู่เกาะโซโลมอน มีประชากรน้อยกว่า 700,000 คน ซึ่งเป็นหมู่เกาะหลายร้อยเกาะที่อยู่ทางตะวันออกของปาปัวนิวกินี ในมหาสมุทรแปซิฟิก และเมืองหลวงโฮนีอารา ตั้งอยู่บนเกาะกัวดัลคะแนล เดิมมีการสู้รบกันดุเดือด ซึ่งมีความสำคัญระหว่างกองทหารสหรัฐ และญี่ปุ่นอย่างมาก ในสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อครั้งหนึ่ง หมู่เกาะโซโลมอนเคยตกอยู่ในสถานะใกล้ล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ส่งกำลังทหารรักษาเสถียรภาพได้รับการฟื้นฟูและลงนามในข้อตกลงสันติภาพ

 

 

ผลประโยชน์ซ้อนอยู่ในสนธิฯ ไม่ถูกเปิดเผย

รายละเอียดบางอย่างที่ระบุในสนธิสัญญาฯ ไม่ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งร่างเอกสารที่หลุดออกมาเสนอแนะว่า จะอนุญาตให้เรือรบจีนจอดในหมู่เกาะโซโลมอนได้ และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนส่งไปประจำการตามคำร้องขอของหมู่เกาะ เพื่อรักษา “ระเบียบทางสังคม” โดยจะไม่อนุญาตให้เปิดเผยภารกิจต่อสาธารณะ ตราบใดที่ไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ 

นายกรัฐมนตรีโซกาวาเร เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า โซโลมอนไม่มีเจตนาใดๆ เพื่อขอให้จีนสร้างฐานทัพทหาร และเมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) เขากล่าวย้ำอีกครั้งว่า สนธิสัญญาดังกล่าว “เป็นสิ่งชี้นำผลประโยชน์ของชาติของเรา”

หลายชาติ กังวลสัมพันธ์ "โซโลมอน - จีน"

นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย กล่าวในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กล่าววันนี้ว่า การลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวบ่งชี้ถึง “ความกดดันที่รุนแรง” จากประเทศจีนที่มีต่อประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจน “รู้สึกได้” 

มาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มาถึงขณะนี้ ออสเตรเลียก็ต้องเคารพใน “สิทธิการตัดสินใจทางอธิปไตย” ของรัฐบาลโฮนีอารา แต่ก็ “ผิดหวังอย่างยิ่ง” กับสนธิสัญญาจีน

ด้านเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศเงาจากพรรคฝ่ายค้านของออสเตรเลีย กล่าวว่า นี่เป็นความล้มเหลวที่เลวร้ายที่สุดของนโยบายต่างประเทศออสเตรเลียที่มีต่อประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะออสเตรเลียเพิกเฉยต่อคำเตือนจากอังกฤษตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า สนธิสัญญาความปลอดภัยหมู่เกาะโซโลมอน-จีน อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลีย สหรัฐ นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้ เพื่อแสดงความ “กังวลต่อกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงที่ร้ายแรงในอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้างในสนธิฯดังกล่าว”

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์