‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ดาบสองคมแผนฟื้นศก.มาเลย์

‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ดาบสองคมแผนฟื้นศก.มาเลย์

‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ดาบสองคมแผนฟื้นศก.มาเลย์ ขณะผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การได้รับเงินค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นของแรงงานอาจกัดเซาะผลกำไรและแผนการลงทุนของบริษัทเอกชน และอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของมาเลเซีย 35% สร้างความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่บรรดานักวิจารณ์มีความเห็นว่า นักการเมืองทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านพยายามใช้นโยบายประชานิยมผ่านการสนับสนุนทางการเงินรูปแบบต่างๆเพื่อหวังคะแนนเสียงในช่วงที่การเลือกตั้งทั่วประเทศจะเริ่มขึ้นในปลายปีนี้   

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียนำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่านานกว่า10ปีแล้วที่ “ทันการานิ คารูปิอาห์”ได้รับค่าจ้างในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดที่ศูนย์ดูแลสุขภาพของเอกชนแห่งหนึ่งใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ในอัตราเดือนละ 900 ริงกิต (210 ดอลลาร์) แต่นับตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเธอก็ได้ประโยชน์เต็มๆจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบัน เธอได้รับเงินเดือนเป็นเดือนละ 1,200 ริงกิต 

คารูปิอาห์ เป็นหนึ่งในชาวมาเลเซีย 1.2 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลอีกครั้งเป็น 1,500 ริงกิตเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนหน้า จากปัจจุบันที่ 1,100 ริงกิต หรือ 1,200 ริงกิตใน 57 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ  ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้เปรียบเหมือนลาภลอยแก่บรรดาแรงงานในตลาดแรงงานมาเลเซียที่ต้องพึ่งพารายได้แบบเดือนชนเดือนประมาณ 25-35% 

“ถ้ารัฐบาลไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฉันก็ยังคงได้เงินเดือนๆละ 900 ริงกิต”  คารูปิอาห์ ซึ่งยึดอาชีพทำความสะอาดมานาน 23ปีแล้ว กล่าว         

รัฐบาลมาเลเซียขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระลอกใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการทำสงครามกับยูเครนของรัสเซียที่เข้ามาซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของมาเลเซียซบเซาหนักแต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การได้รับเงินค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นของแรงงานอาจกัดเซาะผลกำไรบริษัท แผนการลงทุนด้านต่างๆของบริษัทเอกชน และท้ายที่สุดอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

“ซาเอ็ด ฮุสเซน ซาเอ็ด ฮุสแมน”ประธานสมาพันธ์นายจ้างมาเลเซีย(เอ็มอีเอฟ) ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียเมื่อไม่นานมานี้โดยมองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้สูงเกินไปและอาจจะเพิ่มความท้าทายแก่บรรดานายจ้างในบริษัทเอกชน ที่สำคัญ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจจะสร้างผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

ซาเอ็ด ฮุสเซน มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ธุรกิจบางแห่งของมาเลเซียพยายามกลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้งหลังจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่เพราะอิทธิพลของซูเปอร์ไต้ฝุ่นราอิ ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์และมาเลเซียเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ใน 8 รัฐของมาเลเซีย รวม กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสลังงอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 55 คนและไร้ที่อยู่เกือบ 100,000 คน   
 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยคาดว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบริ ยาคอบจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปีนี้ แต่รัฐบาลมาเลเซีย ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวมาเลเซียให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นเพราะผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19

“ซาราวานัน มูรูกัน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,500 ริงกิตมาถูกที่ถูกเวลา เป็นไปตามการคาดการณ์ของบริษัทต่างๆและควรมีการพิจารณาทบทวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกๆสองปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย กล่าวว่า การตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาจากตัวแปรหลายตัวแปรที่รัฐบาลนำมาพิจารณา รวมถึงรายได้ของประชาชนที่ถือว่ามีฐานะยากจน แนวโน้มต้นทุนการดำเนินชีวิต อัตราเงินเฟ้อในภาพรวม และโครงการอุดหนุนค่าจ้างแรงงาน (The Wage Subsidy Programme)ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยภาคธุรกิจรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 และข้อริเริ่มอื่นๆ

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย (ดีโอเอสเอ็ม) เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าดัชนี CPI เฉลี่ยในช่วงเดือนม.ค.ปี 2554 ถึงเดือนมี.ค. 2565 ที่ระดับ 1.9%

รายงานระบุว่า การปรับตัวขึ้น 4% ของเงินเฟ้อจากราคาอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของดัชนี CPI นั้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.

ขณะที่ เงินเฟ้อจากราคาเครื่องตกแต่งบ้าน, เครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์บำรุงรักษาบ้านเรือนทั่วไป เพิ่มขึ้น 3% ส่วนเงินเฟ้อจากค่าบริการของร้านอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้น 2.9% และจากบริการขนส่ง เพิ่มขึ้น 2.6%

รายงานระบุด้วยว่า ดัชนี CPI สำหรับไตรมาส 1/2565 ปรับตัวขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทั้งหมด ยกเว้นสินค้าหมวดอาหารสดที่มีความผันผวนนั้น เพิ่มขึ้น 2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

“ต้องไม่ลืมว่าคนงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงโควิด-19ระบาด บางคนถูกลดเงินเดือน บางคนถูกบอกเลิกจ้าง และบางคนถูกลดชั่วโมงทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเดือนของพวกเขา”  มูรูกัน กล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ระบุว่า "อัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยในปี 2563 ปรับตัวลง13% มาอยู่ที่ 1,894 ริงกิต จาก 2,185 ริงกิต ในปี 2562  ซึ่งมูรูกัน มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพแก่ค่าจ้างแรงงานที่มีฐานเงินเดือนต่ำได้อย่างมาก