‘ชอปปิงรักษ์โลกวันยุโรป’ ตลาดไทย_อียู สู่ความยั่งยืน

‘ชอปปิงรักษ์โลกวันยุโรป’  ตลาดไทย_อียู สู่ความยั่งยืน

ได้ยินคำว่า “ตลาด” หลายคนคงหูผึ่ง เพราะนั่นหมายถึงสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลายถูกใจนักช้อป ยิ่ง “ตลาดไทย_อียู สู่ความยั่งยืน” ยิ่งน่าสนใจ เพราะแค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ตลาดนี้ไม่ธรรมดา ต้องมีอะไรถูกใจคนห่วงใยสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

วันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันครบรอบของการประกาศ “ปฏิญญาชูมันน์” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรป เนื่องในโอกาสวันยุโรปปี 2565 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับมิวเซียมสยาม Bangkok Farmers' Market ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และกรุงเทพมหานคร จัดงาน “ตลาดไทย-อียูสู่ความยั่งยืน” ในวันที่ 7 พฤษภาคม ที่มิวเซียมสยาม 

จุดเด่นของตลาดเป็นงานที่ส่งเสริมความหลากหลายด้านอาหารของทั้งไทยและยุโรป สนับสนุนผู้ผลิตยั่งยืน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่สำคัญของยุทธศาตร์ “Farm to Fork” ของสหภาพยุโรปอีกด้วย ภายในตลาดประกอบด้วยร้านค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 25 ร้าน ซึ่งมีแนวคิดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาลไทยและแผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป 

บรรยากาศการซื้อขายตั้งแต่ 10.00-20.00 น. ลูกค้าตอบรับอุ่นหนาฝาคั่ง ผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ทั้งชิมทั้งช้อปสินค้ายั่งยืน  เมื่อเข้างานเดินผ่านจุดลงทะเบียนมาเจอไวน์ฮังการีเป็นซุ้มแรกติดกับซุ้มไวน์ฮังการี ถัดไปไม่ไกลเป็นซุ้มขนมปังฝรั่งเศส ไส้กรอกเยอรมัน โดนัทโปแลนด์สูตรต้นตำรับจากร้าน Holy Donut Pączkarnia สูตรดั้งเดิมชนิดที่เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทยต้องสั่งจากที่นี่ ความพิเศษของโดนัทโปแลนด์คือแป้งหนาคล้ายแป้งขนมปัง เนื่องจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำเป็นต้องทำอาหารชิ้นใหญ่ให้คนอิ่มได้ในหนึ่งมื้อ ต่อมาทุกวันที่ 20 ก.พ. ถือเป็นวันโดนัทของโปแลนด์ 

จากขนมฝรั่งมาสู่ซีฟู้ด บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด  โดยพี่นุชหรือดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ผู้ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญของ ‘ปลาออร์แกนิก’ วิสาหกิจที่ชาวบ้านถือหุ้นมากกว่า 90% ให้ข้อมูลว่า อาหารทะเลของบริษัทผ่านการรับรองออร์แกนิก กล่าวคือ ใช้เครื่องมืออย่างรับผิดชอบ ทุกขั้นตอนไม่ใช้สารเคมี มาจากแหล่งน้ำสะอาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 

นอกจากของกินแล้วของใช้ในตลาดก็น่าสนใจ คุณผู้หญิงคงสะดุดตา “ผ้าอนามัยซักได้” หรือผ้าอนามัยที่ทำจากผ้า เกศินี จิรวณิชชากร จาก SunnyCotton เล่าความเป็นมาว่า เธอเคยใช้ผ้าอนามัยซักได้ตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ที่นั่นมีขายหลากหลาย จึงกลับมาทำขายในเมืองไทย ได้รับเสียงตอบรับดีเริ่มต้นจากคนรักสิ่งแวดล้อมขยายวงไปถึงลูกค้าทั่วไป เพราะผ้าอนามัยซักได้นอกจากไม่เพิ่มขยะแล้ว ยังไม่ทำให้เกิดอาการแพ้และประหยัด ทุกชิ้นใช้งานได้เกินห้าปี ประหยัดเงินได้มากกว่า 10,000 บาท 

สินค้าทำจากผ้าอีกชนิดหนึ่งคือ ปลาซักผ้า magFish ถุงผ้าลินินตัดเย็บเป็นรูปปลา ภายในบรรจุ ORP magnesium ball (แมกนีเซียมบริสุทธิ์ 99.95% ผ่านกระบวนการให้พร้อมทำปฎิกิริยากับน้ำ มีรูปทรงเป็นบอลขนาดเล็ก) ใช้ซักผ้าสามารถลดกลิ่นอับและขจัดคราบสกปรกในผ้าได้ ทดแทนการใช้ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม ลองจินตนาการถึงปลาซักผ้าตัวน้อยแหวกว่ายอยู่ในเครื่อง หนึ่งตัวซักได้ 360 ครั้ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายครั้งละไม่ถึง 4 บาท น้ำทิ้งจากการซักผ้าไม่ทำลายสภาพแวดล้อมเหมือนน้ำทิ้งจากผงซักฟอก  เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งคนรักสิ่งแวดล้อมและคนขยันซักผ้า 

นี่แค่ส่วนหนึ่งของสินค้าที่มาร่วมงาน  “ตลาดไทย-อียูสู่ความยั่งยืน” ในงานยังประกอบไปด้วยเวิร์กชอป 3 กิจกรรมที่จะสอนวิธีที่สนุกและสร้างสรรค์ในการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีทั้งเวิร์กชอปไขผึ้งห่ออาหารที่จัดโดยผู้ร่วมก่อตั้ง SOS Earth มารีญา พูลเลิศลาภ นักขับเคลื่อนทางสิ่งแวดล้อมสัญชาติไทย-สวีเดน พร้อมกับ Fashion Revolution  เวิร์กชอปสบู่ Eco จัดโดยร้านสัญชาติยูเครน Bangkok Soap Opera และเวิร์กชอปรีไซเคิลจัดโดย Precious Plastic Bangkok และ Rethinking Plastics ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป

 เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เดินชมทั่วตลาดพร้อมร่วมทำเวิร์กชอปอย่างสนุกสนาน 

“แค่แวบแรก ร้านเหล่านี้ก็ได้แสดงให้เราได้เห็นถึงภาพในอนาคต ทว่าถ้าเราลองไตร่ตรองดู ก็จะพบว่าร้านเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นว่าอนาคตที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และแนวคิดนี้กำลังเป็นจริงขึ้นในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ กล่าว ซึ่งไม่ได้เกินเลยไปจากความเป็นจริง