หนังเล่าโลก: Dasvi ‘การศึกษาเปลี่ยนคน’
ต้องยอมรับว่า กระแสภาพยนตร์เรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” มาแรงเหลือเกิน ถูกพูดถึงไปทั่วทุกหัวระแหง เขียนถึงกันในทุกแง่มุมจนไม่เหลืออะไรให้เขียน แต่อารมณ์อยากดูหนังอินเดียยังมีอยู่ และหนังเล่าโลกสองเรื่องล่าสุดที่เขียนถึงก็เป็นหนังอินเดีย วันนี้ขอเป็นภาพยนตร์จากแดนภารตอีกสักเรื่องก็แล้วกัน นั่นคือเรื่อง Dasvi
Dasvi (ที่แปลว่า คุณวุฒิมัธยมปลาย) ภาพยนตร์ปี 2565 ผลงานการกำกับของ Tushar Jalota บอกเล่าเรื่องราวของ คงคา ราม เชาดารี มุขมนตรีรัฐหฤษฎ์ประเทศ (รัฐสมมุติ) ผู้เกิดมาในตระกูลการเมือง เล่นการเมืองมาทั้งชีวิต รู้ดีว่าทำอย่างไรให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน แต่นักการเมืองระดับชนะเลือกตั้งถล่มทลายแน่นอนว่ามักมีศัตรูเยอะและเป็นปลาตายน้ำตื้นเพราะย่ามใจ เชาดารีถูกพิพากษาจำคุกคดีทุจริตสอบครูที่เจ้าตัวก็ไม่อยากเชื่อว่าชีวิตจะมาลงเอยที่เรือนจำ ตอนแรกก็ได้อยู่ห้องพักวีไอพีเพราะซี้กับผู้คุม แต่อยู่ได้ไม่นานเรือนจำเปลี่ยนผู้คุมใหม่เป็น ชโยตี ดัสวัล อดีตตำรวจหญิงที่ถูกมุขมนตรีเชาดารีสั่งย้าย เธอคือข้าราชการเถรตรง แม่เสือสาวผู้ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เรียกได้ว่ากล้าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักการเมืองใหญ่อย่างเชาดารีที่อาจจะได้ออกไปเป็นใหญ่อีกเมื่อใดก็ได้
ระหว่างที่ติดคุก เชาดารีมอบหมายให้บิมลาเทวี ภรรยาผู้ขลาดกลัวและเขินอายรับหน้าที่มุขมนตรีแทน หลังจากนั้นเส้นทางชีวิตของสามีภรรยาคู่นี้ก็สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด เชาดารีผู้ทรงอำนาจกลายเป็นนักโทษ บิมลาเทวีช้างเท้าหลังกลับรุ่งโรจน์ในฐานะนักการเมือง เมื่อใช้เส้นสายไม่ได้อีกต่อไปเชาดารีก็ต้องทำงานในเรือนจำเหมือนกับนักโทษคนอื่นๆ แต่โอกาสยังมีอยู่บ้างเมื่อเรือนจำอนุญาตให้นักโทษเรียนหนังสือในห้องสมุดและสอบเลื่อนชั้นได้ เชาดารีเห็นช่องทางนี้เพื่อหลีกหนีการทำงานหนัก แต่อีกใจหนึ่งการเรียนหนังสือคือการสานฝันของแม่ให้เป็นจริง เพราะแม้ใหญ่โตถึงระดับมุขมนตรีแต่เชาดารีกลับเรียนหนังสือแค่มัธยมสองเท่านั้น ความรู้น้อยกว่าเลขานุการส่วนตัวหรือนักโทษคนอื่นๆ ที่บางคนจบวิศวกรรมศาสตร์เสียด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าการเรียนต่อของเชาดารีถูกผู้คุมหญิงปรามาสว่าเป็นแค่มุกหลบเลี่ยงงานไม่ใช่การตั้งใจเรียนหนังสือจนจบม.ปลายจริงๆ เมื่อถูกหยามเช่นนี้เจ้าตัวถึงกับวางเดิมพันครั้งใหญ่กับผู้คุมว่า ถ้าตนสอบไม่ผ่านจะไม่เป็นมุขมนตรีอีกเลย เชาดารีทุ่มเทความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย เห็นความมุ่งมั่นของเขาแล้วคิดถึงข่าวโครงการ “Books behind Bars” ของโบลิเวียที่ให้นักโทษอ่านหนังสือนำมาใช้เป็นวันลดโทษได้ เช่นเดียวกับที่บราซิล นักโทษอ่านหนังสือหนึ่งเล่มลดเวลาติดคุกลงได้สี่วัน หรือข่าวเมื่อตอนต้นปี ไซอิ นาอีม ชาห์ วัย 35 ปี นักโทษคดีฆ่าคนตายในปากีสถานต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่สอบได้คะแนนสูงสุดระดับมัธยมปลายได้ทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัย เหล่านี้ถือเป็นโอกาสของผู้ต้องขัง และการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา
ส่วนเส้นทางการเรียนหนังสือในเรือนจำของเชาดารี ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าหัวเอาเสียเลยไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ต้องให้เพื่อนนักโทษมาช่วยสอน โดยเฉพาะภาษาฮินดีที่ดูเหมือนเขาจะอ่อนที่สุดจำต้องได้ผู้คุมหญิงมาเป็นติวเตอร์พิเศษ ระหว่างนี้นี่เองที่คนดูจะต้องลุ้นว่า ในเรือนจำเชาดารีจะสอบผ่านหรือไม่ นอกเรือนจำสนามเลือกตั้งมุขมนตรีคุกรุ่น แม้แต่คู่สามีภรรยา “เชาดารี-บิมลาเทวี” ยังต้องลงเลือกตั้งแข่งกันเอง และที่สำคัญมิตรภาพระหว่างติวเตอร์ผู้คุมหญิงกับลูกศิษย์พิเศษอย่างเชาดารีจะล้ำเส้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การที่นักการเมืองเฟอะฟะคนหนึ่งเปลี่ยนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากเป็นสารตั้งต้น การศึกษาคือกระบวนการ ขณะที่วุฒิบัตรรับรองว่าจบการศึกษาระดับชั้นต่างๆ นั้น เป็นเพียงแค่ของแถม