องค์กรโลกเตือน“พิษสงคราม” ราคาอาหารพุ่ง-ฉุดศก.โลกทรุด
การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ กำลังเป็นปัญหาต่อความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงกระทบต่อราคาอาหารและราคาพลังงานในหลายประเทศ
ล่าสุด สององค์กรชั้นนำของโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าเศรษฐกิจโลกอาจแตกเป็นเสี่ยง ๆ จากผลพวงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย พร้อมทั้งระบุว่า การสูญเสียบูรณภาพที่ก่อตัวขึ้นตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะทำให้โลกยากจนลงและมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
“คริสตาลินา จอร์เจียวา” ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ระบุว่า นานาประเทศควรลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนและลดราคาสินค้า หลังจากที่กว่า 30 ประเทศออกมาตรการจำกัดการค้าในภาคอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญอื่น ๆ
จอร์เจียวา แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟร่วมกับ“กีตา โกปินาธ” รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟและ“เจย์ลา ปาซาร์บาซิโอกลู” หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์ นโยบายและการตรวจสอบของไอเอ็มเอฟ ก่อนการประชุมเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีเอฟ) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สัปดาห์นี้
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ กลุ่มนี้ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ควรสร้างความหลากหลายด้านการนำเข้า เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและลดการสูญเสียด้านผลผลิตจากภาวะติดขัดต่าง ๆ ขณะที่ G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ควรพัฒนากรอบการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านความเปราะบาง
“ต้นทุนของความแตกแยกที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อนานาประเทศ และประชาชนที่มีรายได้ทุกระดับจะได้รับผลกระทบ ตั้งแต่อาจารย์รายได้สูงและพนักงานโรงงานรายได้ปานกลาง ไปจนถึงแรงงานรายได้ต่ำซึ่งต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าเพื่อดำรงชีพ ประชาชนจำนวนมากขึ้นจะต้องออกเดินทางแสวงโชคในต่างถิ่น”รายงานไอเอ็มเอฟ ระบุ
ด้าน “อ็อกซ์แฟม” ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอาหารนั้นได้สร้างแรงกดดันต่อประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก
รายงานของอ็อกซ์แฟม ซึ่งเปิดเผยในระหว่างการประชุมดับเบิลยูอีเอฟ ระบุว่า จำนวนมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 573 รายตั้งแต่ปี 2563 มาอยู่ที่เกือบ 2,700 รายในปัจจุบัน
ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ เผยว่า มูลค่าความมั่งคั่งสะสมยังพุ่งขึ้นมาที่เกือบ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ มาแตะที่ 12.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มมหาเศรษฐีจากภาคอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานต่างมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดีดตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ การผสมผสานกันของโรคโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และการพุ่งขึ้นของราคาอาหารอาจส่งผลให้ประชาชน 263 ล้านคน ตกอยู่ในสภาพยากจนขั้นเลวร้ายในปี 2565 ซึ่งปัจจัยนี้จะฉุดรั้งความก้าวหน้าที่ดำเนินมาหลายสิบปี
“ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงราคาสินค้าจำเป็น ได้แก่ อาหารและพลังงาน ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งรุนแรงเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดนั้น จึงเลวร้ายลงไปอีก” ผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว ระบุ
เมื่อวันพุธ(18พ.ค.)ที่ผ่านมา “อันโตนิโอ กูเตียเรส” เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวในนครนิวยอร์กของสหรัฐว่า สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่ก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ภาวะอดอยาก และภาวะข้าวยากหมากแพง ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ทั่วโลกก็จะมีปริมาณอาหารเพียงพอ แต่ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
กูเตียเรสยังเตือนด้วยว่า ไม่มีวิธีใดที่จะแก้ปัญหาวิกฤติอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากยูเครนยังไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งรวมถึงการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและเบลารุส ทั้งยังระบุว่า ขณะนี้เขากำลังติดต่อรัสเซียกับยูเครนเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง รวมถึงสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อหาทางการฟื้นฟูส่งออกอาหารให้กลับคืนสู่ระดับปกติ
“ปัจจุบันยังมีอาหารเพียงพอในโลกของเรา หากเราลงมือปฏิบัติด้วยกัน แต่หากเราไม่แก้ปัญหาในวันนี้ เราอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารทั่วโลกในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้” เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเสริม