"เศรษฐกิจโลก" วุ่นหนัก 30 ชาติ จำกัดส่งออก "อาหาร"
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนเศรษฐกิจโลกกำลังวุ่นวายหนัก หลังมี 30 ชาติจำกัดการส่งออกอาหารแล้วจากการระบาดของโควิด 19 ความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบาง รวมไปถึงปัญหาซัพพลายเชน
“คริสตินา จีโอจีวา” ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ เตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง ผลพวงมาจากทั้งการระบาดของโควิด-19 ตลอดไปจนถึงความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหาร และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ สร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด
ท่าทีของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟมีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้นำโลก และผู้นำภาคธุรกิจกำลังเข้าร่วมประชุมในเวที เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ใน 30 ประเทศที่เริ่มจำกัดการส่งออกอาหาร รวมถึง อาร์เจนตินา สั่งระงับการส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง,อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
แอลจีเรีย ระงับการส่งออก พาสต้า,ข้าวสาลี,น้ำมันพืช,น้ำตาล จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 ,อียิปต์ ระงับการส่งออก น้ำมันพืช,ข้าวโพด ถึงวันที่ 12 มิ.ย 2565
อินเดีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ,อินโดนีเซีย ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม,น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธ.ค. 2565 แต่ต่อมาวันที่ 23พ.ย.ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามนี้หลังจากสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศดีขึ้น
มาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ
กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนไก่และราคาไก่ในประเทศปรับตัวสูงขึนจึงตัดสินใจประกาศระงับการส่งออกและยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะกลับมาส่งออกได้เมื่อไหร่ บอกแต่เพียงว่า ต้องรอให้สถานการณ์ทั้งการผลิตและราคาในประเทศกลับมามีเสถียรภาพก่อน
“ลำดับความสำคัญของรัฐบาล คือ ประชาชนต้องมาก่อน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ กล่าวและบอกเพิ่มเติมด้วยว่า จะมีการสอบสวนเกี่ยวกับราคาไก่ที่แพงผิดปกติอีกด้วย
อิหร่าน ระงับการส่งออกมันฝรั่ง, มะเขือม่วง,มะเขือเทศ,หัวหอม ถึง 31 ธ.ค. 2565 ,คาซัคสถาน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,แป้งสาลี ถึง 15 มิ.ย. 2565 ,โคโซโว ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมันพืช,เกลือ,น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
ตุรกี ระงับการส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย , น้ำมันปรุงอาหาร ถึง 31 ธ.ค. 2565 ,ยูเครน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโอ๊ต,ข้าวฟ่าง,น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
รัสเซีย ระงับการส่งออกน้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 ส.ค. 2565 และ ข้าวสาลี,แป้งสาลี,ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ,ข้าวบาร์เลย์,ข้าวโพด ถึง 30 มิ.ย. 2565
เซอร์เบีย ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมัน ถึง 31 ธ.ค. 2565
ตูนิเซีย ระงับการส่งออก ผลไม้,ผัก ถึง 31 ธ.ค. 2565 ,คูเวต ระงับการส่งออก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่,ธัญพืช,น้ำมันพืช
“ซาบริน โชว์ดรี” หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทฟิทช์ โซลูชันส์ กล่าวกับเว็บไซต์บลูมเบิร์กว่า นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการออกมาตรการกักตุนห้ามส่งออกอาหารขยายวงไปถึงราว 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติราคาอาหาร เมื่อปี 2550 - 2551
“กระแสการกักตุนอาหารจะยังคงยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2565 โดยจะเริ่มรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศที่เปราะบาง” นักวิเคราะห์จากฟิทช์ กล่าว