‘งานสังสรรค์มิมูนา’ สายใยอิสราเอล-โมร็อกโก

‘งานสังสรรค์มิมูนา’  สายใยอิสราเอล-โมร็อกโก

นับตั้งแต่ปี 2563 ปีทองของทางการทูตอิสราเอล ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์กับโลกอาหรับหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) บาห์เรน ตามด้วยซูดานและโมร็อกโก นับถึงวันนี้ความสัมพันธ์ผลิบานประจักษ์ได้บนแผ่นดินไทย เมื่อสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลโดยเอกอัครราชทูตออร์นา ซากิฟและสถานเอกอัครราชทูตโมร็อกโกโดยเอกอัครราชทูตอับเดอร์ราฮิม ราห์ฮาลี่ ร่วมกันจัดงานสังสรรค์มิมูนาเป็นครั้งแรก

มิมูนาเป็นประเพณีดั้งเดิมที่เฉลิมฉลองกันในหมู่ชาวยิวในโมร็อกโก โดยจะจัดขึ้นหลังหลังเทศกาลพาสโอเวอร์ หรือเพสสะห์ ในภาษาฮีบรู พาสโอเวอร์เป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว เฉลิมฉลองที่ชาวยิวหลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ ระหว่างเทศกาลพาสโอเวอร์นี้ ชาวยิวจะไม่รับประทานอาหารใดๆ ที่มีส่วนประกอบของธัญพืชที่ขึ้นฟูหรือหมัก เช่น ขนมปัง เส้นพาสตา เบียร์ เหล้า เป็นต้น

งานสังสรรค์มิมูนาเป็นการกลับมารับประทานอาหารต่างๆ ที่ห้ามบริโภคในช่วงเทศกาลพาสโอเวอร์ ตามประเพณีปฏิบัตินั้นชาวยิวในโมร็อกโกจะ “เปิดบ้าน” เลี้ยงฉลองกันในหมู่เพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน อาหารจานหลักจะเป็นของหวานหลากชนิด รวมถึง “โมเฟล็ตตา” ซึ่งมีลักษณะเหมือนเครปแผ่นบาง  ทำจากน้ำ แป้ง และน้ำมัน ปกติจะรับประทานขณะที่ยังอุ่นๆ พร้อมกับน้ำผึ้ง

ทูตซากิฟ เล่าว่า  ช่วงบ่ายวันสุดท้ายของเทศกาลพาสโอเวอร์ ชาวยิวทั้งในโมร็อกโกและอิสราเอลจะเตรียมแป้ง น้ำผึ้ง นม และเนยเพื่อเตรียมทำอาหารค่ำเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดพาสโอเวอร์ 

ชาวยิวโมร็อกโกใช้โอกาสนี้เปิดบ้านต้อนรับแขกเหรื่อเพื่อนฝูง จัดเตรียมเค้กและขนมหวานอลังการไว้มากมาย หนึ่งในของโปรดคือ โมเฟล็ตตา บนโต๊ะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของความโชคดีและอุดมสมบูรณ์ รวมถึงสัญลักษณ์เลข 5 เช่น เครื่องประดับทองคำ 5 ชิ้น หรือถั่ว 5 เม็ดเรียงกันบนแผ่นแป้ง ที่ต้องเน้นย้ำเลข 5 เพราะหมายถึงสัญลักษณ์ 5 นิ้ว “ฮัมซา” ที่พบได้ทั่วไปในชุมชนชาวยิวและมุสลิมทั้งในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง หมายถึงความโชคดีและมั่งคั่ง  

ในอิสราเอลงานสังสรรค์มิมูนาเป็นงานประจำปีที่ได้รับความนิยมมาก มีการจัดปาร์ตี้กลางแจ้ง ปิกนิก บาร์บีคิว งานใหญ่จัดที่เยรูซาเลมคนมาร่วมงานราว 100,000 คน ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีก็มา (เธอกระซิบว่านักการเมืองอิสราเอลชอบงานมิมูนามาก)  

ตามธรรมเนียมจะมีการเสิร์ฟของหวานมากมายระหว่างงานสังสรรค์มิมูนา และเปิดประตูไว้กว้างๆ เปิดให้ใครก็ได้เข้ามารับประทานอาหาร ส่วนใหญ่เป็นคุกกี้ทำจากถั่วลิสง อัลมอนด์ ถั่วเปลือกแข็ง มะพร้าวและไข่ขาวตีฟู ขนมอื่นๆ นอกจากโมเฟล็ตตา ก็มีสฟินจี (โดนัทชนิดหนึ่ง บางคนเรียกว่าโดนัทโมร็อกโก) ชบาคิยา (แป้งทอดเสิร์ฟกับน้ำผึ้ง น้ำกุหลาบ และงา) 

ในปี 2550 นักศึกษาที่ไม่ใช่ชาวยิวเริ่มตั้ง “มิมูนาคลับ” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยอัล-อฮาวันในโมร็อกโก ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมหมัดที่ 6 ต่อมามีสโมสรแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายด้านวัฒนธรรมของสังคมโมร็อกโก  

ปีนี้ ชาวอิสราเอลและชาวยิวกว่า 15,000 คน ร่วมเฉลิมฉลองมิมูนาทั่วประเทศโมร็อกโกร่วมกับชาวมุสลิมท้องถิ่น ถึงวันนี้ชุมชนชาวยิวในโมร็อกโมมีจำนวนถึง 4,000 คน มากที่สุดในบรรดาประเทศอาหรับ  

"อิสราเอลและโมร็อกโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค.2563 และเปิดสถานทูตในเทลอาวีฟและกรุงราบัต ตั้งแต่นั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ดีวันดีคืน นักท่องเที่ยวไปมาหาสู่ระหว่างกัน ตัวแทนธุรกิจเดินทางไปมาสำรวจหาโอกาส มีการลงนามข้อตกลงมากมาย ทั้งในด้านสุขภาพ น้ำ กลาโหม และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตัวแทนระดับสูงทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาผลัดกันเยี่ยมเยือน เรามีเที่ยวบินตรงระหว่างอิสราเอลกับโมร็อกโก วัฒนธรรมของเราสองประเทศคล้ายกันมากค่ะ แม้แต่ภาษาก็มีที่คล้ายกัน ศักยภาพระหว่างเรายอดเยี่ยมมาก และเรากำลังคอยทำให้สิ่งนั้นเป็นจริง" ทูตอิสราเอลกล่าวทิ้งท้ายถึงความสัมพันธ์กับโมร็อกโก 

เช่นเดียวกับทูตราห์ฮาลี่ที่กล่าวเปิดงานด้วยคำอวยพร “Trabhou w tsaadou” หรือ “ขอให้คุณประสบความสำเร็จและโชคดี”  พร้อมเล่าว่า งานสังสรรค์มิมูนาที่มีต้นกำเนิดในโมร็อกโก จากนั้นชาวยิวทั่วโลกรับไปปฏิบัติและกลายเป็นวันหยุดประจำชาติในอิสราเอลและประเทศอื่นๆ  การเฉลิมฉลองมิมูนาในราชอาณาจักรโมร็อกโก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการยอมรับ เคารพ และอดทนอดกลั้นต่อศาสนาที่แตกต่าง โดยเฉพาะการมีชุมชนชาวยิวในใจกลางประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่  

สิ่งที่ปฏิบัติในหมู่ชาวโมร็อกโกคือ บ่อยครั้งที่ชาวยิวโมร็อกโกมอบแป้ง ยีสต์ และธัญพืชที่เหลือทั้งหมดจากเทศกาลพาสโอเวร์ให้กับเพื่อนบ้านชาวมุสลิม และชาวมุสลิมมักจะเป็นแขกชุดแรกที่มาเยี่ยมบ้านชาวยิวหลังพาสโอเวอร์ นำอาหารและของหวานต่างๆ ที่เคยถูกห้ามรับประทานมามอบให้  

ท่านทูตเล่าด้วยว่า ชาวยิวอาศัยอยู่ในโมร็อกโกมาหลายร้อยปีแล้ว สร้างอัตลักษณ์โมร็อกโกให้รุ่มรวยเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่นๆ ในประเทศ 

ปัจจุบันชาวยิวที่มีต้นกำเนิดในโมร็อกโกมีมากกว่า 1 ล้านคน พวกเขาชื่นชมกับประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์พิเศษกับสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมหมัดที่ 6 ในฐานะผู้นำแห่งศรัทธา ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวกับกษัตริย์โมร็อกโกมีมายาวนานย้อนไปถึงศตวรรษที่ 15 ตอนที่ชาวยิวถูกขับออกจากอันดาลูซีอา (สเปน) แล้วได้รับการต้อนรับให้มาอยู่ในโมร็อกโก 

ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมหมัดที่ 5 ผู้ล่วงลับทรงปฏิเสธกฎหมายต่อต้านยิวของรัฐบาลวิชีในฝรั่งเศส ทั้งยังไม่ทรงส่งมอบชาวโมร็อกโกให้กับรัฐบาลนาซี ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมหมัดที่ 6 ทรงสืบสานมรดกประวัติศาสตร์นี้ มีรับสั่งให้ปรับปรุงสุสานและสถานที่ศักดิ์สิทธิเกือบ 170 แห่งในโมร็อกโก ฟื้นฟูโบสถ์ยิวอีกกว่า 20 แห่ง 

ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนโมร็อกโกพูดถึงชาวยิวในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่งยังคงเป็นความจริงอันเป็นอัตลักษณ์ในโลกอาหรับและอิสลาม  อีกทั้งโมร็อกโกยังเป็นประเทศอาหรับและประเทศอิสลามประเทศเดียวที่ชุมชุนชาวยิวยังมีโบสถ์ยิว มีศาล และมีโครงสร้างทุกอย่างเป็นส่วนประกอบปกติแห่งอัตลักษณ์โมร็อกโก ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญของโมร็อกโกยังกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของชาวยิวด้วย 

“มิมูนาไม่ได้สะท้อนถึงช่วงเวลาดีๆ ในการแบ่งปันวัฒนธรรมในหมู่ชาวโมร็อกโกเท่านั้น แต่ยังเป็นห้วงเวลาที่ต้องหวนคิดถึงความสำคัญของ‘การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน’ และการยอมรับคนอื่น” ทูตโมร็อกโกกล่าวต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติผู้เป็นประจักษ์พยานมิตรภาพที่เติบโต