เปิดเบื้องลึก 'Nikkei Forum' หวังหาสมาชิกร่วม IPEF
ทันทีที่ส่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับประเทศ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ก็เตรียมตัวพบผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนทันที ผ่านเวที Nikkei Forum ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วย
เว็บไซต์โกลบอลไทม์ส รายงานว่า ผู้นำอาเซียน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนหลุง ของสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนของกัมพูชา ไปร่วมการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยอนาคตเอเชีย ครั้งที่ 27 หรือที่รู้จักกันในาม “นิกเคอิฟอรัม” ปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “บทบาทเอเชียนิยามใหม่ในโลกที่แบ่งแยก” ที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค.รวมถึงผู้นำ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศเอเชีย-แปซิฟิก
นิกเคอิจัดงานนี้เป็นประจำทุกปีตั้งแต่พ.ศ.2538 ได้ชื่อว่าเป็นเวทีประชุมสำคัญที่สุดเวทีหนึ่งของเอเชีย ที่ผู้นำภาคการเมือง เศรษฐกิจ และวิชาการแสดงมุมมองต่อปัญหาภูมิภาค และบทบาทของเอเชียต่อโลก
งานนี้จัดขึ้นทันทีหลังจากผู้นำกลุ่ม Quad เพิ่งพบกันแบบเจอหน้าค่าตา ครั้งที่ 2 ที่กรุงโตเกียว นักวิเคราะห์เผยกับโกลบอลไทม์ส ว่า การจัดงานไล่หลังกันแบบนี้เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของนายกฯ คิชิดะเพื่อดึงดูดประเทศในภูมิภาคมาร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐเป็นผู้นำ ประเทศที่มาร่วมนิกเคอิฟอรัมเข้าร่วม IPEF เพียงน้อยนิด ส่วนใหญ่ไม่ร่วม
IPEF มีสมาชิกเบื้องต้น 13 ประเทศ นอกเหนือจากสมาชิก Quad ได้แก่สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย รวมถึงพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาค อาทิ เกาหลีใต้ และสมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน
ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) กลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กังวลที่จีนถูกกีดกันออกจาก IPEF และการทำให้เป็นเรื่องการเมืองที่อาจบีบให้ต้องเลือกระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งยังกังวลเรื่องรูปแบบ และโครงสร้างของ IPEF ไม่ชัดเจน
“ไม่น่าแปลกใจที่คิชิดะหยิบประเด็น IPEF หรือพยายามล็อบบีผู้ร่วมประชุมนิกเคอิฟอรัม แต่เขาควรเข้าใจว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชา ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนอาจตอบสนองแตกต่างออกไป” กู่ เสี่ยวซง คณบดีสถาบันวิจัยอาเซียน มหาวิทยาลัยมหาสมุทรเขตร้อนไห่หนานเผยกับโกลบอลไทม์ส
จ้าว กันเฉิง นักวิจัยจากสถาบันเซี่ยงไฮ้ เพื่อการระหว่างประเทศศึกษา ระบุว่า นับถึงขณะนี้อินเดียเป็นเพียงประเทศเดียวจากภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียที่ลงนามใน IPEF แสดงว่า IPEF ไม่มีคุณสมบัติตามชื่ออย่างเป็นทางการ
เจิ้น เซี่ยงเหมี่ยว ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อทะเลจีนใต้ศึกษา กล่าวว่า สหรัฐอาจขอให้ญี่ปุ่นใช้เวทีนี้กู้หน้าเรื่อง IPEF
เหล่านักวิเคราะห์มองว่า การพยายามชักชวนประเทศเอเชียใต้อย่างศรีลังกา บังกลาเทศ และสมาชิกอาเซียนมาร่วม IPEF อาจเป็นงานสำคัญในวาระของคิชิดะ แต่ดูแล้วไม่ค่อยมีความหวัง
เจิ้น เตือนด้วยว่า มาตรฐานของ IPEF ในแง่ของซัพพลายเชน สวัสดิภาพแรงงาน และการดูแลสิ่งแวดล้อมสูงเกินเหตุ จนประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นการเข้าร่วม IPEF จะทำให้ตลาดโกลาหล แม้แต่ในกลุ่มอาเซียนก็เกิดความแตกต่าง “ด้วยเหตุนี้ประเทศในภูมิภาคอาจสงวนท่าทีไม่เข้าร่วม”
นายกฯ สิงคโปร์เคยให้สัมภาษณ์นิกเคอิเมื่อหลายวันก่อนว่า การพัฒนาของจีนเป็นผลดีต่อภูมิภาค แต่ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกยังต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่สำคัญมากกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรปด้วย
นายกฯ ลีนำเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาโตเกียวด้วย เช่น วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย มากับไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศ และวายบี โมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีอาวุโสการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม
ถ้าดูจากคนที่มากู่ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ร่วมงานอาจอยากหารือหัวข้อทวิภาคี เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสาขาที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การลงทุน และการค้า มากกว่าจะมาเล่นเกมการเมืองหรือยั่วยุจีน
นักวิเคราะห์จีนคาดการณ์ด้วยว่า นายกฯ คิชิดะ จะใช้โอกาสนี้ล็อบบี้ประเทศอาเซียนและผู้นำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ประณามรัสเซีย แต่อาจโดนเหล่าแขกรับเชิญปฏิเสธเพราะวิธีคิดแบบสงครามเย็นไม่ช่วยการพัฒนาในภูมิภาค
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์