ดาวโจนส์ทะยาน 516 จุดเหตุหลากปัจจัยบวกหนุนตลาด

ดาวโจนส์ทะยาน 516 จุดเหตุหลากปัจจัยบวกหนุนตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(26พ.ค.)ปรับตัวขึ้น 516 จุด ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม โดยนักลงทุนขานรับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มค้าปลีก รวมทั้งรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า การที่สหรัฐเปิดเผยเศรษฐกิจหดตัวลงมากกว่าคาดในไตรมาสแรก จะช่วยชะลอการตัดสินใจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 516.91 จุด หรือ 1.61% ปิดที่ 32,637.19 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 79.11 จุด หรือ 1.99% ปิดที่ 4,057.84 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 305.91 จุด หรือ 2.68% ปิดที่ 11,740.65 จุด

หุ้นกลุ่มค้าปลีกพุ่งขึ้นในวันนี้ หลังจากที่เมซีส์ อิงค์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐ รายงานตัวเลขกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาสแรก

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยหนุนผลประกอบการของสถาบันการเงิน

ราคาหุ้นทวิตเตอร์ อิงค์ พุ่งขึ้นกว่า 5% ขานรับนายอีลอน มัสก์ ซึ่งแสดงความมุ่งมั่นที่จะซื้อกิจการทวิตเตอร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายมัสก์ได้ประกาศพักการเจรจาข้อตกลงซื้อทวิตเตอร์ชั่วคราว โดยอ้างว่าต้องการตรวจสอบจำนวนบัญชีปลอมบนทวิตเตอร์

เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.เมื่อวานนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยรายงานเฟดระบุว่า เฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลง

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังได้ปัจจัยบวกจากการเปิดเผยตัวเลขคนว่างงานที่ต่ำกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 215,000 ราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 35,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย แต่ใกล้เคียงระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2512

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -1.5% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัว -1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเพียง -1.3%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

เมื่อพิจารณาในปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว -3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19