'อนาคตราชวงศ์อังกฤษ' ในอุ้งหัตถ์เจ้าชายวิลเลียม

'อนาคตราชวงศ์อังกฤษ' ในอุ้งหัตถ์เจ้าชายวิลเลียม

สัปดาห์หน้าสายตาทุกคู่ต้องจับจ้องไปที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 70 ปี แต่สำหรับคนที่อยากเห็นอนาคตของราชวงศ์อังกฤษ ต้องจับตาเจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาของพระองค์แทน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมาราชวงศ์อังกฤษเจอแต่เรื่องฉาว ตั้งแต่เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสควีนเอลิซาเบธ ถูกฟ้องคดีข่มขืน เจ้าชายแฮร์รี พระอนุชาเจ้าชายวิลเลียม ลาออกจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจไปใช้ชีวิตในสหรัฐเมื่อปี 2563 องค์กรการกุศลหลักของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารถูกตำรวจสอบสวนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้านสมเด็จพระราชินีนาถฯ พระชนมพรรษา96 พรรษา พระพลานามัยเสื่อมถอยลงอย่างน่ากังวลจนต้องทรงงดเว้นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ 

งานฉลองสิริราชสมบัติ 70 ปี (แพลตินัม จูบิลี) จึงไม่ใช่แค่ช่วงเวลารำลึกอดีตของพระองค์ แต่เป็นการมองไปข้างหน้า

ผลสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่พบว่า ชาวอังกฤษสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส พระชนมายุ 73 พรรษา ได้รับความนิยมน้อยกว่า เจ้าชายวิลเลียม พระโอรส ผู้ทรงเป็นรัชทายาทอันดับสองกับชายาเคท ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากควีน แต่โพลบอกด้วยว่า สำหรับคนอายุต่ำกว่า 50 ปี ยังลังเลต่อสถาบันกษัตริย์

“อนาคตอยู่ที่เจ้าชายวิลเลียม และเราทุกคนก็รู้ว่า ประชาชนอาจไม่ปรานี” แมทธิว เดนนิสัน นักเขียนชีวประวัติควีนเอลิซาเบธ ให้ความเห็น

เมื่อสิบปีก่อนตอนเฉลิมฉลองพัชราภิเษก (ไดมอนด์จูบิลี) มีช่วงเวลาที่น่าสังเกตขณะควีนเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮม พร้อมด้วยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ชายาคามิลลา เจ้าชายวิลเลียมกับชายาเคท และเจ้าชายแฮร์รี สะท้อนถึงแผนการอันยาวนานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสที่จะลดขนาดราชวงศ์ลงทันทีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

แต่การที่เจ้าชายแฮร์รีและชายาเมแกนย้ายออกไปอยู่สหรัฐแบบช็อกโลกทำให้แผนการเป็นจริงเร็วขึ้น แรงกดดันตกอยู่กับเจ้าชายวิลเลียม  ชันษา 39 ปี และครอบครัวน้อยในการรักษาความสำคัญและความนิยมของราชวงศ์อังกฤษเอาไว้ให้ได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคม

ผู้กล้าคนสุดท้าย

“เจ้าชายวิลเลียมคือคนสำคัญ เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ในวันหนึ่ง พระองค์คือผู้กล้าคนสุดท้าย ผมคิดว่าอนาคตของสถาบันกษัตริย์วางอยู่บนบ่าของเจ้าชาย” ชาร์ลส เร อดีตผู้สื่อข่าวราชสำนักของหนังสือพิมพ์เดอะซันกล่าว

เจ้าชายวิลเลียมและชายาเคท ชันษา 40 ปี ได้รับการรายงานถึงในทางที่ดีจากสื่อตลอดห้าปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในคู่รักทรงเสน่ห์ที่สุดของโลกพอๆ กับดาราฮอลลีวูด พระองค์สลัดภาพ “วิลไม่ทำงาน” ชื่อเล่นที่แทบลอยด์อังกฤษตั้งให้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หลังสื่อมองว่าทั้งคู่ขี้เกียจ

“บอกตามตรงเลย ชีวิตข้าพเจ้าโดนวิจารณ์มาเยอะ จะมองข้ามไปเลยก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ต้องใส่ใจมาก” เจ้าชายวิลเลียมประทานสัมภาษณ์ในปี 2559 ในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 90 พรรษา สมเด็จพระราชินีนาถฯ

นอกจากนี้เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับคำชมเชยอย่างมากจากการทรงงานด้านสุขภาพจิต คนไร้บ้าน และสิ่งแวดล้อม แต่การเสด็จเยือนแคริบเบียนเมื่อเร็วๆ นี้ของพระองค์และชายา เปรียบเสมือนนาฬิกาปลุก มีเสียงวิจารณ์และประท้วงสิ่งที่อังกฤษทำในยุคอาณานิคม

“ข้าพเจ้าทราบว่า การเยือนครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามที่แหลมคมยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอดีตและอนาคต” เจ้าชายตรัสในแถลงการณ์ที่ผิดปกติมากๆ เมื่อสิ้นสุดการเสด็จเยือน

หนังสือพิมพ์ซันเดย์มิเรอร์รายงานว่า การเสด็จเยือนแคริบเบียนทำให้เจ้าชายวิลเลียมและดัชเชสเคททรงคิดใหม่ว่า สถาบันกษัตริย์ควรเป็นอย่างไร ทั้งคู่ตรัสว่า อยากให้เรียกแค่พระนาม ไม่ต้องใส่ยศ “ดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์”

“ทั้งสองพระองค์ไม่อยากให้คำนับหรือถอนสายบัวในที่สาธารณะ ให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ลดพิธีการ ลดความล้าสมัย เลิกธรรมเนียมเก่าๆ จำนวนมาก เน้นความเป็นกษัตริย์ทันสมัย” แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่งเผย

มิเกล เฮด ผู้ช่วยคนสำคัญของเจ้าชายนานถึงสิบปีจนถึงปี 2561 เล่าว่า แม้เจ้าชายวิลเลียมไม่โปรดพิธีการแต่ทรงเข้าใจถึงความสำคัญ

“เมื่อพระองค์ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด พระองค์ไม่ปฏิบัติตามนั้นทั้งหมด แต่ทรงตระหนักว่าสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องไม่จำกัดกาลที่อยู่เหนือพวกเราทั้งหลายและหลายคนก็ต้องมนต์ขลังและนาฏกรรมของมัน” เฮดกล่าวกับซันเดย์ไทม์ส

เจ้าชายวิลเลียมยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวตามกาลเวลาเพื่อให้อยู่ได้เรื่องนี้สมเด็จพระราชินีนาถเคยตรัสไว้เหมือนกัน ในปี 2559 เจ้าชายวิลเลียมทรงเรียกสมเด็จพระอัยยิกาว่าทรงเป็นบุคคลต้นแบบที่ดีที่สุด

“ความท้าทายสำหรับข้าพเจ้าคือทำยังไงให้ราชวงศ์อยู่ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า และอาจจะเป็น 40 ปี, 60 ปี ข้าพเจ้าหวังว่า ข้าพเจ้าทำได้” เจ้าชายวิลเลียมตรัส