‘จีนถอยร่น-สหรัฐรุก’ ชิงสัมพันธ์การทูตไทย

‘จีนถอยร่น-สหรัฐรุก’ ชิงสัมพันธ์การทูตไทย

SHAWN W. CRISPIN ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการมากประสบการณ์ เขียนบทความชื่อ China losing, US gaining crucial ground in Thailand เผยแพร่ทางเว็บไซต์ asiatimes.com เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน และไทย-สหรัฐ ไว้อย่างน่าสนใจ กรุงเทพธุรกิจสรุปความไว้ดังนี้

ตอนที่ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กลับจากการประชุมที่มณฑลอานฮุย ในคืนหนึ่งของเดือน เม.ย. เมื่อถึงกรุงเทพฯ นักการทูตเบอร์หนึ่งของประเทศไทยมีคนมาคอยต้อนรับแบบไม่คาดฝันที่สนามบิน เขาคือ “หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

การทูตกลับตาลปัตรชนิดที่ทูตจีนมายืนรอรับ รมว.ต่างประเทศไทยบนแผ่นดินไทย ถูกคนวงในรัฐบาลรายหนึ่งมองว่า นี่คือสัญญาณชัดเจนและรุนแรงที่ว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังจับตารัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป หลังจากดอนไปหารือที่จีน

ที่อานฮุย หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กดดันดอนให้เร่งโครงการรถไฟไทย-จีนผ่านลาวที่ล่าช้ามานาน

จีนเพิ่งเสร็จสิ้นโครงการรถไฟความเร็วสูงในลาวโดยไม่เชื่อมถึงไทย คนวงในรายเดิมกล่าวว่า เปรียบเสมือนโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) ไปไม่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า หวังยังไม่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยสมาชิกในภูมิภาค 13 ประเทศ ในฐานะอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือที่นำโดยจีน

ทั้งนี้ จีนรุกไทยทั้งด้านการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคงนับตั้งแต่คณะทหารนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2557 ทำให้สัมพันธ์ที่เคยมีมายาวนานกับพันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐสั่นคลอน

แต่แปดปีผ่านไปจีนเห็นชัดแล้วว่าไม่ได้อย่างที่ต้องการทั้งหมด และรัฐบาลปักกิ่งเองก็เริ่มเปลี่ยนจากการทูตไม้นวมมาใช้ไม้แข็งมากขึ้นภายใต้ทูตหาน

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ไทยหลายคนกล่าวกับเอเชียไทม์สโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า

ไทยจำต้องมองกลับไปหาสหรัฐและญี่ปุ่น ที่เป็นพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคนี้

รากเหง้าที่ไทยต่อกับจีนไม่ติดคือรถไฟที่ไม่ได้สร้าง ไทยยืดเวลามากว่าสิบปีทำแค่เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเอาใจรัฐบาลปักกิ่งเท่านั้น ที่เหลือไม่มีอะไรคืบหน้าพอจะเชื่อมไปถึงชายแดนลาวได้

โดยส่วนตัวเจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่า พวกเขากังวลว่ารถไฟจีนจะทำให้การขาดดุลการค้ากับจีนที่สูงอยู่แล้วยิ่งสูงขึ้นไปอีก ช่วงโควิดระบาดไทยขาดดุลจีนพุ่งขึ้นเกือบ 50% ทางการไทยมองอย่างระมัดระวังเมื่อจีนเข้าควบคุมสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญในลาว ในการตกลงแลกเปลี่ยนหนี้เงินกู้ทำรถไฟ

แต่การที่รถไฟในไทยไม่คืบหน้าชัดเจนว่านี่คือนโยบายที่ไม่ได้ประกาศออกมา มากกว่าเป็นความล่าช้าของระบบราชการ ผู้สังเกตการณ์ นักการทูต และเจ้าหน้าที่หลายคนมองว่า การที่จีนค่อยๆ แต่จงใจ “ล้อม” ไทย เป็นการเพิ่มการใช้ฮาร์ดพาวเวอร์กับไทย

บทความยังกล่าวถึงแรงกดดันของจีน เช่น การสร้างเขื่อนหลายแห่งบนแม่น้ำโขงที่ส่งผลต่อน้ำท่วมหรือความแห้งแล้งต่อพื้นที่ท้ายน้ำอย่างไทย

การสร้างกาสิโนในพื้นที่ชายแดนลาว โดยกาสิโนแห่งหนึ่งมีรันเวย์ยาวพิเศษรองรับเครื่องบินส่วนตัวของแขกวีไอพี แต่ก็ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารได้ด้วย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการปิดล้อมของจีนเห็นได้ในกรณีกัมพูชา จีนทำข้อตกลง 25 ปี เข้าถึงฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาที่เปิดออกสู่อ่าวไทย และในเมียนมาร์ จีนเร่งทำโครงการรถไฟอีกสายหนึ่งคืบหน้าไปมากนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อปีก่อน

นักการทูตอาวุโสชาวไทยในกรุงเทพฯ รายหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า ถ้ามองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์เหมือนไทยถูกปิดล้อม ไทยนั้นถูกมองว่าเป็น “โอเอซิสประชาธิปไตย” ในภูมิภาคนี้ ขณะที่จีนกระชับสัมพันธ์กับรัฐบาลอำนาจนิยมในกัมพูชา เมียนมา และลาว

เกิดคำถามมากมายในแวดวงนักการทูตในกรุงเทพฯ ว่าไทยจะปรับสัมพันธ์การทูตจากจีนไปหาสหรัฐได้มากแค่ไหน

ส่วนเรื่องเรือดำน้ำจีนที่เป็นไปได้ว่าอาจยกเลิก ตอนนี้หลายคนสงสัยว่าถ้ายกเลิกก็มีเงินจัดซื้อเครื่องบินF-35 ล่องหนของสหรัฐ ถ้าจัดซื้อได้ก็จะยกระดับมาตรฐานการทำงานร่วมกันของสหรัฐกับไทยได้มาก มีรายงานว่าทีมตรวจสอบของกองทัพอากาศสหรัฐจะมาไทยเร็วๆ นี้เพื่อประเมินความพร้อมใช้เครื่องบินรบรุ่นที่ 5

อีกหนึ่งคำถามคือบทบาทของจีนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดของไทย

ความสัมพันธ์การค้าทวิภาคีต้องได้รับผลกระทบเมื่อจีนปิดพรมแดนทำให้ทุเรียนและลิ้นจี่ไทยส่งออกไม่ได้ มองผิวเผินเป็นการป้องกันโควิด แต่บางทีอาจเป็นการบีบที่โครงการรถไฟในไทยไม่คืบหน้าด้วย

การปิดประเทศและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ “วงจรคู่ขนาน” หันไปมองในประเทศของจีนหมายความว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เคยหนุนให้การท่องเที่ยวไทยยุคก่อนโควิดเติบโตอย่างมาก ถ้าจะมาก็ยังไม่กลับมาเป็นจำนวนมหาศาลในเร็วๆ นี้ ปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีนราว 28%

สำหรับคนที่คิดถึงการทูตไผ่ลู่ลมอันโด่งดังของไทยและไผ่กอนี้กำลังลู่กลับไปหาสหรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐพุ่งขึ้นมากช่วงโควิดระบาด ปี 2564 เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2563 ได้เปรียบดุลการค้าสุทธิ 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่กับจีนไทยขาดดุลการค้าพุ่งขึ้นจาก 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 มาอยู่ที่ 2.98 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเกือบ 50%

นักสังเกตการณ์เศรษฐกิจกลุ่มเดิมตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนของสหรัฐในไทยน้อยกว่าจีนมาก โดยเฉพาะการผลิตที่จ้างงาน แม้ว่าหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมลุยโครงสร้างพื้นฐาน 5จีขนานใหญ่ มีส่วนทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนอย่างมากในรูปของการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมที่ถูกกว่าสินค้าที่ผลิตจากบริษัทตะวันตก

ความสัมพันธ์อันยาวนานและสายสัมพันธ์การค้าที่ยังคงแข็งแกร่งกับสหรัฐ พอจะอธิบายได้ว่าทำไมไทยถึงฝืนการโน้มน้าวที่อานฮุยของหวังแล้วเลือกเป็น 1 ใน 13 ชาติแรกร่วม IPEF ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น หลังจากนั้นไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปกรุงโตเกียวพร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สอดรับกับ IPEF ด้วย

หากจะกล่าวว่า การที่ไทยโผไปหาสหรัฐส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเคยว่างเว้นไปนานถึงเกือบสองปี ปล่อยให้อุปทูตรักษาการแทนจีนจึงใช้โอกาสที่ไทยยังไม่ได้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA จากสหรัฐ มาโปรโมทวัคซีนซิโนแวคอย่างหนัก สุดท้ายแล้วรัฐบาลสหรัฐก็บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทยในช่วงที่โควิดสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงถึงชีวิตกำลังระบาดเมื่อเดือน ส.ค.2564 ยิ่งช่วยประชาสัมพันธ์ให้สหรัฐว่ามีเทคโนโลยีทางการแพทย์เหนือกว่า

ขณะที่จีนยังคงเดินหน้าบริจาคซิโนแวคที่ตอนนี้ดูเหมือนแค่ถ่ายรูปโชว์ผลงานทางการทูตมากกว่าเอาไปใช้ควบคุมโรคจริงๆ แหล่งข่าวในรัฐบาลรายหนึ่งเผยว่า ทีมแพทย์ไทยแอบเผาวัคซีนซิโนแวคที่ไม่ได้ใช้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยากได้ไฟเซอร์และโมเดอร์นามากกว่า

“จีนมองเราเป็นลูกค้า สหรัฐมองเราเป็นหุ้นส่วน เป็นความแตกต่างมาตลอด” เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่งของไทยกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา https://asiatimes.com/2022/06/china-losing-us-gaining-crucial-ground-in-thailand/