‘ความมั่นคงทางอาหาร’ โจทย์ใหญ่ท้าทายสิงคโปร์

‘ความมั่นคงทางอาหาร’ โจทย์ใหญ่ท้าทายสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นที่รู้จักดีว่ามีสตรีทฟู้ดและอาหารท้องถิ่นหลากหลาย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าสิงคโปร์เผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” และรัฐบาลต้องให้ความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้นหลังหลายประเทศห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนบ้านมาเลเซียห้ามส่งออกไก่ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าไก่จากมาเลเซียถึง 34%

จากการเป็นประเทศเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงต้องนำเข้าอาหารกว่า 90% จากกว่า 170 ประเทศและดินแดน เมื่อประเทศกำลังเสี่ยงกับปัจจัยภายนอก รัฐบาลจึงเปิดตัวโครงการ “30 ภายใน 30” ผลิตอาหารที่จำเป็น 30% ภายในปี 2030 แต่เงินเฟ้ออาหารที่สูงขึ้นก็ส่งผลกระทบสิงคโปร์เข้าให้แล้ว   องค์กรการเงินสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมรายงานว่า เดือน เม.ย.ราคาอาหารสูงขึ้น 4.1% จากปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในเดือนมี.ค.

 สถานการณ์อาหารโลก

เจ้าของแผงค้าอาหารเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันที่ต้องคงราคาอาหารให้ต่ำเข้าไว้เพื่อลูกค้าจำนวนมาก เรมุส เซียว เจ้าของร้านข้าวญี่ปุ่น “ฟุกุด้ง” เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง 

ช่วงหกเดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าจำพวกน้ำมันปรุงอาหาร ไข่ และเนื้อ ขึ้นมา 30%-45% จนเมื่อเร็วๆ นี้เขาต้องขึ้นราคาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดร้านเมื่อสองปีก่อน ถ้าราคายังสูงต่อเนื่อง ลูกค้า 20%-35% อาจไม่มาอุดหนุนอีกต่อไป 

 เอ็มเอเอสประเมินว่า ราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงจะทำให้เงินเฟ้ออาหารสิงคโปร์สูงขึ้นต่อไปหลังจากปีนี้ 

 จะว่าไปแล้วราคาอาหารโลกเริ่มสูงขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด แต่สงครามในยูเครนทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเลวร้ายลง 

ดิล ราหุต นักวิจัยอาวุโสสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวว่า อาหารจะขาดแคลนต่อเนื่อง เผลอๆ ไปถึงหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า ประเทศอื่นไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากยูเครนและรัสเซียได้ เพราะการปลูกพืชกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี 

 พอล เติ้ง นักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาเอส ราชรัตนัม ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า แม้สงครามสิ้นสุด ราคาอาหารก็จะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนสงครามในทันที นั่นเพราะว่าปัจจัยอย่างราคาพลังงานสูงขึ้น แรงงานขาดแคลน และซัพพลายเชนปั่นป่วนจะผสมผสานกับการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ราคาสูงต่อไป 

ธนาคารโลกคาดว่า ราคาอาหารเพิ่มขึ้นราว 20% ในปีนี้ ก่อนอ่อนตัวลงในปี 2566 

 อนาคตไม่แน่นอน

เติ้งกล่าวต่อว่า แม้สิงคโปร์รักษาความมั่นคงทางอาหารไว้ได้ค่อนข้างดี แต่อนาคตยังไม่ทราบ

“สิงคโปร์ไม่ให้ความสำคัญกับการเกษตร เน้นนำเข้าอาหาร ตอนนี้เราต้องยูเทิร์น เริ่มหันมาหาการเกษตรแต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะได้ผล” เติ้งเสริม

 โครงการ “30 ภายใน 30” มีเป้าหมายให้สิงคโปร์ผลิตอาหารเองได้มากพอในช่วงเวลายากลำบาก แต่ไม่สามารถแทนที่การนำเข้าได้อย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลตัดสินใจเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มจีดีพีของประเทศและรายได้เฉลี่ยครัวเรือน มากกว่าจะลงทุนในการเกษตร 

 “ตราบเท่าที่คุณมีเงิน ตราบเท่าที่ซัพพลายเชนไม่ติดขัด คุณสามารถซื้อหาอาหารจากไหนก็ได้ เพราะปริมาณที่เราต้องการไม่ค่อยสูงมาก” เติ้งกล่าว แต่แม้สิงคโปร์อาจบรรลุเป้าหมายด้านเทคนิคและเทคโนโลยี แต่ยังมีอีกสองประเด็น นั่นคือราคาและทัศนคติของผู้บริโภคต่อ “อาหารแนวใหม่” 

 ผู้บริโภคเน้นซื้อ “อาหารธรรมชาติ” และอาจไม่ยอมรับ “อาหารแนวใหม่” อย่างเนื้อไก่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองและโปรตีนทางเลือกที่เป็นส่วนสำคัญของเป้าหมาย “30 ภายใน 30” 

 ขณะที่ราหุตเตือนว่า การบรรลุเป้าหมายทำได้ยากมาก เพราะเส้นตายกำลังใกล้เข้ามา และสิงคโปร์ยังคงผลิตสารอาหารที่จำเป็นได้เพียง 10% เท่านั้น ประชาชนจะยังคงซื้อผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าถ้าราคาถูกกว่าผลิตเอง จนกว่ารัฐบาลสามารถอุดหนุนสินค้าเหล่านั้นได้

 เช่นเดียวกับเซียวที่กล่าวว่า เขาจะไม่ซื้ออาหารผลิตเอง ถ้าราคาไม่พอๆ กับสินค้านำเข้า 

 “แต่หนทางเดียวที่จะไปต่อได้คือรัฐบาลต้องเดินหน้า แล้วลงมือทำอย่างสุดความสามารถเพื่อคงราคา คุณภาพ และความต้องการของสินค้าที่จำเป็น แล้วเมื่อนั้นประชาชนจะค่อยๆ ยอมรับอาหารผลิตในท้องถิ่นไปเอง” 

ราหุตยังแนะนำด้วยว่า การทำตลาดให้อาหารผลิตในท้องถิ่นเป็นอาหารคุณภาพสูงเปี่ยมไปด้วยสารอาหารอาจจูงใจผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น ซึ่งบางคนยินดีจ่ายแพงสำหรับสินค้าที่โฆษณาว่าเป็นออร์แกนิก 

 สิงคโปร์ทำอะไรได้บ้าง 

 ทั้งเติ้งและราหุตกล่าวว่า ในระยะสั้นรัฐบาลสามารถจัดหาตาข่ายความปลอดภัยให้กับคนด้อยโอกาส เช่น ให้เงินสดหรือเวาเชอร์ แต่เติ้งเสริมว่า จุดอ่อนหนึ่งของสิงคโปร์คือแม้พยายามนำเข้าจากหลายประเทศ แต่ยังพึ่งพาหนึ่งหรือสองประเทศเป็นหลักอยู่ดี   ตัวอย่างเช่น ในปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าไก่ 48% จากบราซิล จากมาเลเซีย 34%  ส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากมาเลเซียเป็นไก่เป็น ที่เหลือเป็นไก่แช่แข็งจากบราซิลและประเทศอื่นๆ  ดังนั้น ในระดับนโยบายจึงสำคัญมากในการนำเข้าสินค้าต่างๆ ให้หลากหลาย เช่น นำเข้าไก่เป็นจากที่อื่นเพิ่มขึ้น

 นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้บริษัทสิงคโปร์ผลิตอาหารในต่างประเทศมากขึ้น และทำข้อตกลงกับรัฐบาลอื่นว่าอาหารที่ผลิตจะต้องไม่เจอคำสั่งห้ามส่งออก

 “คำตอบในภาพใหญ่คือสร้างหลักประกันว่าประเทศผู้ผลิต ประเทศผู้ส่งออกมีอาหารส่วนเกิน และมีหนทางมากมายที่เราสามารถช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ให้ทำแบบนั้นได้” เติ้งกล่าวซึ่งคล้ายกับราหุตที่เสริมว่า เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงควรหาทางช่วยประเทศอื่นยกระดับระบบการผลิตอาหาร 

 “นั่นไม่ได้ช่วยแค่สิงคโปร์สร้างเสถียรภาพราคาอาหารและความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังสร้างเสถียรภาพราคาและความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกด้วย” ราหุตสรุป