ส่องปัจจัย ทำ "ค่าเงินวอน" ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 13 ปี
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา "ค่าเงินวอน" ร่วงลงทะลุระดับ 1300 วอนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 13 ปี หรือตั้งแต่ช่วงวิกฤติซับไพรม์ ระหว่างปี 2551-52 ท่ามกลางความยืดเยื้อในสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรง และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
นับตั้งแต่การประทุขึ้นของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน แทบทุกประเทศต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีระดับเงินเฟ้อที่สูงอยู่ก่อนแล้ว การถูกซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนพุ่งขึ้นทุบสถิติในรอบ 40 ปี และเป็นชนวนสำคัญให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เมื่อเฟดขยับตัวทางด้านนโยบายการเงิน ส่งผลให้ตลาดเงินและทุนทั่วโลกปั่นป่วน ค่าเงินหลายชาติดิ่งลงหนักสุดในรอบหลายปี เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับ เงินวอนเกาหลีใต้ โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (22 มิ.ย.) เงินวอนอ่อนค่าลงแตะ 1304.79 วอนต่อดอลาร์ ต่ำสุดในรอบ 13 ปี หรือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติซับไพรม์ ในปี 2552
ปัจจัยทำค่าเงินวอนอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 13 ปี
มูลค่าของเงินวอนที่ดิ่งลงอย่างหนัก สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกของการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางของเงินทุนทั่วโลกมุ่งหน้าเข้าสู่สหรัฐ
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เงินทุนบางส่วนไหลออกจากเกาหลีใต้ กดดันให้ค่าเงินวอนร่วงลงอย่างหนัก สะท้อนจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (Kospi) ในวันที่ 23 มิ.ย. ที่มีดัชนีปิดตลาดดิ่งลงแตะระดับ 2,314.23 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานยังเป็นอีกปัจจัยให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลง เนื่องจากสินค้าที่มีการนำเข้าสูงสุดของเกาหลีใต้ คือ น้ำมันดิบ โดยคิดเป็น 9.47% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดในปี 2563 และเมื่อพิจารณาสินค้ากลุ่มพลังงาน พบว่า เกาหลีใต้นำเข้ารวมแล้วคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
ราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น เกาหลีใต้จึงต้องใช้เงินต่างประเทศในการซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงเพิ่มระดับอุปสงค์ให้กับเงินสกุลต่างประเทศ ผลักให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงไปอีก
อีกประการหนึ่ง ค่าเงินวอนที่ร่วงลงทำสถิติรอบ 13 ปี ยังเป็นผลมาจากอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเงินวอนได้อ่อนค่าลง 8.6% ทำสถิติเป็นค่าเงินที่อ่อนค่ามากเป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด-19
ผลกระทบต่อ "เศรษฐกิจเกาหลีใต้"
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าค่าเงินจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าก็จะมีทั้งผู้ได้รับและเสียประโยชน์เสมอ ในกรณีการอ่อนค่าลงของเงินวอนก็เช่นกัน โดยหน่วยเศรษฐกิจที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ภาคการส่งออก ขณะเดียวกัน ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนการผลิตที่สูง
ภาคการส่งออกเกาหลีได้รับอนิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินวอนเป็นอย่างมาก สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค. 65 ที่ดีดตัวขึ้นด้วยตัวเลข 21.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 19.3%
จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับประโยชน์จากอ่อนค่าของเงินวอนอยู่ระดับหนึ่ง ถึงอย่างนั้น ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการอ่อนค่ากลับมีมูลค่าสูงกว่า โดยเมื่อพิจารณาในเดือนพ.ค. 65 มูลค่าการนำเข้าของเกาหลีใต้สูงขึ้น 32% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เมื่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกโตไม่เท่ากับการนำเข้า เกาหลีใต้จึงขาดดุลทางการค้าราว 1.7 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น ผลเสียจากราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ยังทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหรือเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตในเกาหลีใต้อยู่ในระดับสูงราว 9.7% ทุบสถิติในรอบเกือบ 14 ปี สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อทั่วไปของเกาหลีใต้ที่พุ่งขึ้นแตะ 5.4% สูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551
ทั้งนี้นักวิเคราะห์เกาหลีใต้ได้ชี้ว่า ค่าเงินวอนอาจร่วงลงแตะระดับ 1,350 วอนต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่า หากระดับเงินเฟ้อยังคงไม่ลดลง เฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในเดือนก.ค. ที่จะถึงนี้
อีกทั้งยังมีการประเมินว่า ระดับ 1,300 วอนต่อดอลลาร์ คือ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลทางจิตวิทยา เพราะอาจส่งผลให้นักลงทุนขายเงินวอนอย่างฉับพลัน ค่าเงินวอนจึงมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงไปอีกหลังจากนี้ และทำให้เกาหลีใต้ต้องประสบกับภาวะขาดดุลทางการค้าต่อไป
แม้ว่าจะมีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ แต่จากกรณีของเงินวอน มูลค่าของผลเสียมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก โดยสำนักข่าวของรอยเตอร์ได้มีรายงานถึงประเด็นนี้ว่า
นับตั้งแต่เดือนม.ค. ถึง พ.ค. ของปีนี้ เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าสะสมรวมแล้ว 7,830 ล้านดอลลาร์ หากเกาหลีใต้ยังคงขาดดุลการค้าต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี คาดว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เกาหลีใต้ ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของเอเชีย ต้องบันทึกผลการขาดดุลประจำปีครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2551
--------------------------------------------
อ้างอิง