ดาวโจนส์ร่วง 253 จุดเหตุหุ้นวูบหนักส่งท้ายเดือนมิ.ย.
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(30มิ.ย.)ดิ่งลง 253 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 หดตัว 1.6%
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 253.88 จุด หรือ 0.82% ปิดที่ 30,775.43 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 33.45 จุด หรือ 0.88% ปิดที่ 3,785.38 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 149.16 จุด หรือ 1.33% ปิดที่ 11,028.74 จุด
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายสำหรับการซื้อขายหุ้นในเดือนมิ.ย. รวมทั้งเป็นวันสุดท้ายสำหรับไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2565
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์,เอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก มีแนวโน้มปรับตัวลงในเดือนมิ.ย. ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ และเอสแอนด์พี 500 มีแนวโน้มทำสถิติปรับตัวย่ำแย่ที่สุดเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนดัชนีแนสแด็ก มีแนวโน้มทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2551
นอกจากนี้ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดิ่งลง 20% นับตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดเทียบรายครึ่งปีนับตั้งแต่ปี 2513
นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 หดตัว 1.6% ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดให้เศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันวานนี้ว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงก็ตาม
นายแอนดรูว์ บอลส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลกของบริษัทแปซิฟิก อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ โค หรือพิมโค ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระบุเตือนว่า สหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
"การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่จะไม่เกิดขึ้น โดยมีโอกาสเกิดขึ้น 50% หรือมากกว่า ซึ่งคุณจะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก ขณะที่ยุโรปมีแนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน และอาจมีโอกาสสูงกว่าสหรัฐ" นายบอลส์กล่าว
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย.เช่นกัน แต่ต่ำกว่าระดับ 6.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป พุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เช่นกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐลดลง 0.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนพ.ค.
การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย