เปิดชีวิตยุคข้าวยากหมากแพง ‘ศรีลังกา-ญี่ปุ่น’ ลำบากถ้วนหน้า

เปิดชีวิตยุคข้าวยากหมากแพง ‘ศรีลังกา-ญี่ปุ่น’ ลำบากถ้วนหน้า

ข่าวคราวเงินเฟ้อ และอาหารแพงทั่วโลก กลายเป็นข่าวที่เสพกันจนชาชิน ไม่ว่าประเทศยากจนหรือร่ำรวย ประชาชนล้วนต้องเอาชีวิตให้รอดท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพง ที่ตอนนี้กำลังสร้างความเดือดร้อนไปถึงเหล่าสัตว์ด้วย

ชาวศรีลังกาที่ตอนนี้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้เอกราช ขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ยาไปจนถึงก๊าซหุงต้ม ผู้คนเริ่มใช้ไม้ฟืนปรุงอาหารกันแล้ว

เทรนด์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีหลังเกิดเหตุระเบิดในครัวกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อยเจ็ดคน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน สาเหตุมาจากซัพพลายเออร์ก๊าซหุงต้มพยายามลดต้นทุนแล้วเพิ่มสัดส่วนโพรเพนจนถึงระดับอันตราย พอคนหันไปใช้น้ำมันก๊าด รัฐบาลก็ไม่มีเงินดอลลาร์มากพอซื้อน้ำมันอีก ส่วนคนที่ใช้เตาไฟฟ้าก็ต้องช็อก เมื่อรัฐบาลปล่อยให้ไฟฟ้าดับนานหลายชั่วโมงเพราะไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาเติมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

สุดท้ายแล้วหลายคน รวมทั้งเอ็ม จี กรุณาวตี แม่ค้าอาหารริมทาง วัย 67 ปี ต้องเปลี่ยนไปใช้ฟืนให้มันรู้แล้วรู้รอด ก็ต้องเลือกเอาว่าจะปิดร้านหรือจะสูดควันไม้ฟืน

“มันทรมานมากเลยเวลาปรุงอาหารด้วยไม้ฟืน แต่เราไม่มีทางเลือก ยิ่งตอนนี้ฟืนหายาก แถมยังแพงมากด้วย” กรุณาวตีโอดครวญ

ศรีลังกานั้นเคยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง จีดีพีต่อหัวพอๆ กับฟิลิปปินส์ มาตรฐานการดำรงชีวิตเป็นที่อิจฉาของเพื่อนบ้านอินเดีย แต่ด้วยการจัดการเศรษฐกิจผิดพลาด การท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้หลักเสียหายเพราะโควิด-19 ระบาด ประเทศขาดแคลนดอลลาร์นำมาซื้อสินค้านำเข้า ความเจ็บปวดนี้ดูท่าน่าจะมีต่อไปอีกสักพักใหญ่ๆ 

นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห แถลงต่อสภาเมื่อวันอังคาร (5 ก.ค.) “เราจะต้องเผชิญความยากลำบากนี้ในปี 2566 ด้วย นี่คือความจริง นี่คือ ความจริง”

ความยากลำบากในศรีลังกาเป็นที่รับรู้กันทั่ว แต่รู้หรือไม่ชาวญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาจากราคาอาหารแพงด้วยเช่นกัน หลายเดือนมาแล้วที่คาซุมิ ซาโตะ นักโภชนาการโรงเรียนมัธยมเซนจู อาโอบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว ได้รับแจ้งว่าอาหารขึ้นราคา เธอจึงต้องปรับเมนูให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี

เธอพยายามจัดผลไม้สดให้เด็กๆ ได้รับประทานเดือนละหนึ่งหรือสองครั้ง ให้บ่อยกว่านั้นไม่ได้ เพราะผลไม้สดแพงมากในญี่ปุ่น เธอจึงใช้เยลลีหรือเค้กชิ้นเล็กๆ แทน

“ฉันไม่อยากทำให้เด็กๆ ผิดหวังกับการต้องรับประทานเมนูเฉาๆ” นักโภชนาการกล่าว

ความเดือดร้อนนี้ไม่ได้มีแค่คน สัตว์ก็พลอยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน อย่างเจ้าเพนกวิน และนากที่สวนน้ำฮาโกเนเอ็น จ.คานากาวะ ทางภาคกลางของญี่ปุ่น ผู้ดูแลเปลี่ยนอาหารที่เคยให้กินมาเป็นอย่างอื่นที่ถูกกว่า เช่น ปลาหางแข็ง ราคาแพงขึ้น 20-30% ก็เปลี่ยนไปใช้ปลาอย่างอื่น ปรากฏว่า เพนกวินบางตัวทีแรกก็คาบปลาไปจากนั้นก็คายทิ้ง พวกนากก็ไม่กินปลาราคาถูก สวนน้ำจึงใช้วิธีซื้อปลาหางแข็งมาบางส่วน แต่ไม่กลับไปใช้อาหารแบบเดิมทั้งหมดรอจนกว่าราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เรียกได้ว่าเงินเฟ้อรอบนี้ทั้งคนทั้งสัตว์เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์