ดาวโจนส์พลิกร่วง 137 จุด กังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังดัชนี PMI หดตัว

ดาวโจนส์พลิกร่วง 137 จุด กังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังดัชนี PMI หดตัว

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(22ก.ค.)พลิกร่วงลง 137 จุด หลังพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง 137.61 จุด หรือ 0.43% ปิดที่ 31,899.29 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.93%  ปิดที่ 3,961.63 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 1.87%  ปิดที่ 11,834.11 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ดิ่งลงกว่า 2% โดยได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลง 35% ของราคาหุ้นบริษัทสแนป อิงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของแอป Snapchat หลังเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง

ราคาหุ้นบริษัททวิตเตอร์ อิงค์ พุ่งขึ้น 1% แม้บริษัทเปิดเผยรายได้ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 2 โดยได้รับผลกระทบจากรายได้โฆษณาที่ลดลง รวมทั้งข่าวที่ว่านายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ประกาศยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์

ขณะนี้บริษัทราว 21% ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 แล้ว ซึ่งราว 70% ในจำนวนดังกล่าวได้รายงานกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 4.2% ในไตรมาส 2 ขณะที่รายได้พุ่งขึ้น 10.2% รวมทั้งมีกำไรเพิ่มขึ้น 9.9% ในปีนี้

เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนมิ.ย.

ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 โดยถูกกดดันจากภาวะหดตัวในภาคบริการ

ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย.  ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย.

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว รุนแรงกว่าที่อีซีบี ส่งสัญญาณในเดือนมิ.ย.ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนก.ค.

นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนนี้ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค. หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจีดีพี หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดการณ์ในวันที่ 15 ก.ค.ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.5%

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ซึ่งแสดงว่าสหรัฐเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับจีดีพี ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค.