'อีวี-โครงสร้างพื้นฐาน'หมุดหมายลงทุนหลักของอินโดนีเซีย

'อีวี-โครงสร้างพื้นฐาน'หมุดหมายลงทุนหลักของอินโดนีเซีย

'อีวี-โครงสร้างพื้นฐาน'หมุดหมายลงทุนหลักของอินโดฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเล ระบุว่า อินโดนีเซียเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็อยู่รอดมาได้ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

 อินโดนีเซีย เชื้อเชิญนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนโครงการพัฒนารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (อีวี)และโครงสร้างพื้นฐาน  โดยบอกว่า ญี่ปุ่นควรเอาอย่างจีนและตะวันออกกลางที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอินโดนีเซีย

พล.อ.ลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย เรียกร้องนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาสหกรรมยนตรกรรมและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยย้ำว่าอินโดนีเซียมีความเหมาะสมและเหมาะอย่างยิ่งในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ตอนนี้อินโดนีเซียเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสและมีผลกระทบมากขึ้น และเศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็สามารถอยู่รอดมาได้ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในช่วง2ปีที่ผ่านมา”  พล.อ.ลูฮุท กล่าวในเวทีสัมนาทางธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว  เป็นการสัมนาที่จัดคู่ขนานไปกับการเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย

ประธานาธิบดีวิโดโดของอินโดนีเซียหารือกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียววานนี้ (27ก.ค.)เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ในช่วงที่นำเสนอแผนการลงทุนด้านต่างๆ พล.อ. ปันด์จัยตัน  ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธของอินโดนีเซียในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากประเทศผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่ม เช่น รถไฟฟ้า และแบตเตอรี พร้อมย้ำว่า ตอนนี้อินโดนีเซีย เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การลงทุนในอินโดนีเซียจึงมีแนวทางที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย

 พล.อ. ปันด์จัยตัน ยังย้ำว่า อินโดนีเซียไไม่ได้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยตอนนี้ การขาดดุลการค้าของอินโดนีเซียกับจีนลดลง ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่อินโดนีเซียบริหารจัดการเศรษฐกิจได้อย่างดี

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย ยังกล่าวถึงโครงการต่างๆ อาทิ การตั้งนิยมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโครงการแบตเตอรีอีวีในอินโดนีเซียตะวันออก ทั้งยังบอกด้วยว่าในส่วนของรายละเอียดแผนการลงทุนของผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำสัญชาติอเมริกันอย่างเทสลาใกล้จะแล้วเสร็จและจะมีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป

เมื่อวันที่ 18ก.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิปดีอินโดนีเซียได้หารือกับอีลอน มัสก์เกี่ยวกับการตั้งโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและยังเสนอให้ตั้งฐานจรวดของสเปซเอ็กซ์ด้วย

หลังจากอินโดนีเซียเสนอให้มัสก์เข้ามาทำธุรกิจอุตสาหกรรมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ได้เชิญเจ้าของเทสลาร่วมงานประชุม G20 ที่จัดขึ้นที่อินโดนีเซียในเดือนพ.ย.ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ทางมัสก์ ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในอินโดนีเซีย

วิโดโด มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศในอินโดนีเซียให้กลายเป็นฐานผลิตหลักให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และยังมีด้านทรัพยากรที่อินโดนีเชียเป็นประเทศที่ครอบครองแร่ธาตุสำคัญอย่างนิกเกิล ซึ่งเป็นโลหะที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนตร์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก

เมื่อเดือนเม.ย.บริษัทแอลจี ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายังได้ร่วมลงทุนในอินโดนีเซียเป็นมูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ส่วนบริษัทจีน แอมเพเร็กซ์ เทคโนโลยี คู่แข่งของแอลจีและเป็นผู้ส่งออกแบตเตอรีให้กับเทสลา ก็ประกาศการลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียเมื่อเดือนเม.ย.เช่นกัน

การร่วมมือระหว่างเจ้าพ่อเทคโนโลยีเทสลาและประธานาธิปดีที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีแห่งอนาคต จะทำให้ประเทศอินโดนีเซียพัฒนาก้าวไกลอีกมาก

“คิม จง-ฮย็อน” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของแอลจี ระบุว่า “เราจะพัฒนาโรงงานแห่งนี้ที่อินโดนีเซีย ให้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อการเข้าถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ในอาเซียน แต่ในระดับโลก”

โรงงานแห่งนี้ลงทุนด้วยเม็ดเงินสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับอีวีด้วยเทคโนโลยี “เอ็นซีเอ็มเอ” (NCMA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยแอลจี ด้วยการใช้นิกเกิลเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ถึง 90% ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่ดึงดูด ในฐานะประเทศผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดในโลก

ด้านสื่อเกาหลีใต้อย่าง โคเรีย อีโคโนมิก เดลี  คาดการณ์ว่า โรงงานแห่งนี้จะสามารถเริ่มการผลิตได้ในต้นปี 2567 โดยมีกำลังการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ถึง 10 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) เพียงพอสำหรับรถอีวีกว่า 150,000 คัน/ปี ซึ่งหากมีความต้องการในตลาดสูงขึ้น ก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 30 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) ต่อปี

แบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะส่งมอบให้กับฮุนได มอเตอร์และ “เกีย คอร์พอเรชั่น” บริษัทในเครือฮุนได โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตรถอีวีของฮุนได ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตรถอีวีเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี2565

รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามอย่างหนักในการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ 

“บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย” รัฐมนตรีด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย ระบุว่า “บริษัทต่างชาติเพียงแค่นำ
เงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาพร้อมกับทำการตลาด ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะช่วยกำกับดูแลในเรื่องของใบอนุญาต และสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ตามนโยบายของประธานาธิบดี”

วิโดโด  ระบุว่า การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่เป็นการยืนยันความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของอินโดนีเซียให้หลุดพ้นกับดักของการเป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบ

“ยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากการผลิตวัตถุดิบ ไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศ” ประธานาธิบดีวิโดโด กล่าว