ดาวโจนส์ปิดลบในกรอบแคบ 46 จุดวิตกเศรษฐกิจถดถอย

ดาวโจนส์ปิดลบในกรอบแคบ 46 จุดวิตกเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(1ส.ค.)ปรับตัวลงในกรอบแคบ 46 จุด ถือเป็นการปิดตลาดในแดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ ยุโรปและจีน บ่งชี้ถึงอุปสงค์อ่อนแอภายใต้แรงกดดันของเงินเฟ้อ และการที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 46.73 จุด หรือ 0.14% ปิดที่ 32,798.40 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 11.66 จุด หรือ 0.28% ปิดที่ 4,118.63 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 21.71 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 12,368.98 จุด

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 6.7% ในเดือนก.ค. ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดีดตัวขึ้น 9.1% และดัชนีแนสแด็ก ทะยานขึ้น 12.4% โดยดัชนีดาวโจนส์และดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำสถิติพุ่งขึ้นรายเดือนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 และดัชนีแนสแด็ก พุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ รวมทั้งรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 3

การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจีดีพีหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1

การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย "ทางเทคนิค" โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน

ที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานที่จะตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินอีก 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.ปีหน้า

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 63.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนัก 49.50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.2566

สำหรับการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค.2566 นักลงทุนให้น้ำหนัก 30.9% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย.

ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การจ้างงานหดตัวลงเป็นเดือนที่ 3

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างดิ่งลง 1.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือนมิ.ย.